คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างลูกหนี้ผู้ล้มละลายกับผู้ขายตามอำนาจในมาตรา 122 และดำเนินการเรียกร้องเงินค่าที่ดินที่ผู้ขายได้รับไว้จากลูกหนี้คือตามอำนาจในมาตรา 119 เมื่อดำเนินการมาจนถึงขั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันหนี้ให้ผู้ขายคืนเงินค่าที่ดินและแจ้งให้ผู้ขายร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันแต่ผู้ขายมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอต่อศาลขอให้บังคับผู้ขายชำระหนี้เงินค่าที่ดินดังกล่าว ศาลก็ต้องมีคำสั่งบังคับไปตามคำขอ ไม่มีปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าที่ดินคืนจากผู้ขายหรือไม่

ย่อยาว

คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอต่อศาลแพ่งว่าลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากนางหนู ไหวพริบ และได้จ่ายเงินค่าที่ดินให้ไปบ้างแล้ว 23,300 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เห็นว่า สิทธิตามสัญญาดังกล่าวมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์และไม่อาจรับไว้ปฏิบัติต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาศัยอำนาจตามมาตรา 122 แจ้งให้นางหนูทราบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าว ขอให้นางหนูส่งเงินค่าที่ดิน 23,300 บาท คืนนางหนูไม่ยอมคืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้นางหนูนำเงินค่าที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ยไปชำระนางหนูปฏิเสธหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีหนังสือยืนยันหนี้ นางหนูไม่ชำระเงินและมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในสิบสี่วัน ถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายเด็ดขาด ขอให้ศาลแพ่งออกคำบังคับ

ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 119 ศาลออกคำบังคับให้ไม่ได้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้ง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างลูกหนี้ผู้ล้มละลายกับนางหนู ตามอำนาจที่มีอยู่ในมาตรา 122 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการเรียกร้องหนี้เงินค่าที่ดินที่นางหนูได้รับไว้จากลูกหนี้ผู้ล้มละลายคืนตามอำนาจที่มีอยู่ในมาตรา 119 วรรคแรก โดยได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังนางหนูว่านางหนูเป็นหนี้เงินลูกหนี้ผู้ล้มละลาย 23,300 บาท ในหนังสือนั้นได้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธก็ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกำหนดเวลาสิบสี่วัน กับทั้งแจ้งไปด้วยว่าถ้าไม่ปฏิเสธดังกล่าวจะถือว่าหนี้ที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดเมื่อนางหนูทำคำร้องปฏิเสธหนี้รายนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าลูกหนี้ผู้ล้มละลายเป็นฝ่ายผิดสัญญานางหนูมีสิทธิที่จะริบเงินค่าที่ดินจำนวน 23,300 บาทที่ลูกหนี้ผู้ล้มละลายชำระให้แล้วได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้ดำเนินการตามวรรค 2 คือได้ทำการสอบสวนแล้วเห็นว่านางหนูเป็นหนี้ลูกหนี้ผู้ล้มละลายจริง จะต้องคืนเงินค่าที่ดินให้ลูกหนี้ผู้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงทำหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ไปยังนางหนูอีกครั้งหนึ่งและแจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใดก็ให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วัน แต่คดีนี้นางหนูมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงปฏิบัติตามวรรค 4 โดยยื่นคำขอต่อศาลแพ่งให้บังคับนางหนูชำระหนี้เงิน 23,300 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยฯลฯ ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร กรณีเป็นเช่นนี้จึงไม่มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นศาลแพ่งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างลูกหนี้ผู้ล้มละลายกับนางหนูคืนจากนางหนูหรือไม่ แต่เป็นปัญหาที่ศาลแพ่งจะต้องสั่งคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปตามบทบัญญัติมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางหนูได้รับหนังสือยืนยันหนี้ที่จะต้องรับผิดในจำนวนเงิน 23,300 บาท จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้โดยชอบแล้ว นางหนูมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลแพ่งก็ต้องมีคำสั่งบังคับให้นางหนูชำระหนี้ไปตามนั้น กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลที่จะพิจารณาสั่งเป็นอย่างอื่น โดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 678/2508

พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

Share