แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745
การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง มีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 922,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามที่โจทก์ชนะคดี แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ต่อมาโจทก์บังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้กับธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) มีจำเลยที่ 3 และนางเพี้ยน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ในคดีนี้มาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 24382/2540 ระหว่าง ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ บริษัทไนซ์วัน จำกัด ที่ 1 นางเพี้ยน ที่ 2 นางสาวสุทธิณี ที่ 3 (จำเลยที่ 3 ในคดีนี้) จำเลย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 570,813.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 421,650.84 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามบังคับชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ต่อมาโจทก์คดีนี้บังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ที่จำนองไว้กับธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยปลอดจำนองเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ได้เงินจำนวน 495,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ทรัพย์จำนองหรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้ในคดีหมายเลขแดงที่ 24382/2540 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น อันทำให้การร้องขอให้บังคับคดีของผู้ร้องต้องกระทำในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีนี้วันที่ 10 สิงหาคม 2559 อันพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 แล้ว การที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาของศาลไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) ก็มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าวแต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ประกอบกับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์นั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) ได้ ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาในคดีหมายเลขแดงที่ 24382/2540 อันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการนำที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 หาใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องรับโอนสิทธิการรับจำนองจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ภายหลังจากที่ได้มีการบังคับจำนองและขายทอดตลาดที่ดินโดยปลอดจำนองเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องในคดีหมายเลขแดงที่ 756/2551 เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับโอนหนี้มาจากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) อันรับฟังได้ว่ามีการใช้สิทธิบังคับจำนองรายนี้แล้ว จำนองย่อมระงับสิ้นไปนั้น ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่าในคดีหมายเลขแดงที่ 756/2551 คู่ความที่ร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมคือบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มิใช่ผู้ร้องในคดีนี้ ทั้งที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 174515 มิใช่ที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ที่ผู้ร้องขอกันส่วน เมื่อผู้ร้องยืนยันว่าเจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องยังมิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว การจำนองย่อมไม่ระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ทรัพย์จำนอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 194758 ทรัพย์จำนองแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) ตามจำนวนหนี้จำนองตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 24382/2540 ของศาลชั้นต้น พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ