คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ จำเลย และ ช. ได้ แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นส่วนสัดของแต่ ละคน และได้ ทำบันทึกตกลง กันต่อ เจ้าพนักงานที่ดินว่าไปจดทะเบียนทางภารจำยอมหลังจากได้ รับโฉนด ที่ดินแล้ว บันทึกข้อตกลงดังกล่าวใช้ บังคับได้ แม้ต่อมาภายหลังจำเลยได้ ถอน ข้อตกลงนั้น แต่ โจทก์ไม่ได้ถอน ด้วย ดังนี้ โจทก์ จำเลยต้อง ผูกพันตาม บันทึกข้อตกลงดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยและนางช่วง สุตยสรณาคม ได้ยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินและได้บันทึกข้อตกลงว่า เมื่อแบ่งแยกโฉนดเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดทางสาธารณะต้องจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้โจทก์เดินเข้าออกได้สะดวกตามขนาดที่ใช้เดินกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวเขตเนื้อที่ของจำเลย ต่อมาเมื่อแบ่งแยกโฉนดเสร็จจำเลยกลับไม่ยอมทำตามที่เจ้าพนักงานบันทึกไว้กลับก่ออิฐถือปูนรุกล้ำเข้ามาในทางที่โจทก์ใช้เดิน ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ดินของจำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีกับให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำเขตทางภารจำยอม
จำเลยให้การว่า ที่จำเลยตกลงให้เป็นทางภารจำยอมที่มีอยู่เดิมเคยกะประมาณไว้ว่ากว้าง 2 เมตร (วัดจริง ๆ กว้าง 1.50 เมตร) ในการบันทึกให้ใช้ทางภารจำยอมด้วยความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงจึงระบุลงไปว่าทางกว้าง 2 เมตร โจทก์มีสิทธิใช้ทางภารจำยอมได้เพียง 1.50 เมตร ห้องครัวจำเลยสร้างมานานแล้ว ไม่ได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในทางภารจำยอม โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ดินของจำเลยด้านทิศตะวันตกและให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทางดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับคำขอที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในเส้นทางภารจำยอมนั้นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมที่ดิน เลขที่ 227, 1034, 1033 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน มีทางออกสู่ทางสาธารณะคือซอยวัดมหาธาตุ 2 ปรากฏตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินโจทก์จำเลยและนางช่วง สุตยสรณาคม ซึ่งเป็นมารดาโจทก์จำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมาได้ตกลงยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกถือกรรมสิทธิ์เป็นสัดส่วนของแต่ละคน โดยจำเลยได้ที่ดินเลขที่ 227ซึ่งติดทางสาธารณะอยู่ด้านเดียวคือทางทิศเหนือ นางช่วงได้ที่ดินเลขที่ 1034 โจทก์ได้ที่ดินเลขที่ 1033 โจทก์จำเลยและนางช่วงได้ลงชื่อในบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องภารจำยอมกับนายวีระศักดิ์ธรรมเศวต เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัดว่า “ฯลฯ เมื่อได้รับโฉนดที่ดินแบ่งแยกแล้ว เจ้าของที่ดินเลขที่ 227 และ 1034 จะต้องมาจดทะเบียนภารจำยอมให้ที่ดินแปลงเลขที่ 1033 ในวันรับโฉนดที่ดินโดยที่ดินเลขที่ 227 และ 1034 เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินเลขที่ 1033เรื่องการเดินทางด้านทิศตะวันตก จากหลักเขต 64181 (ที่ถูกเป็น54181) ไปทางทิศตะวันออกขนาดกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ดินเลขที่ 1033 ซึ่งจะได้มายื่นคำขอจดทะเบียนภารจำยอมกันต่อไป ข้าฯ ได้อ่านบันทึกข้อตกลงนี้ และเข้าใจดี จึงได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้” ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิให้จำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอมที่ดินทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยกว้าง 2 เมตรหรือ 1.50 เมตร เห็นว่า นายวีระศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินไม่มีส่วนได้เสียกับโจทก์จำเลยเบิกความว่า ได้อ่านบันทึกถ้อยคำดังกล่าวจนทั้งสองฝ่ายเข้าใจดีแล้ว เอกสารหมาย จ.1 จึงใช้บังคับได้แม้ต่อมาภายหลังจำเลยได้ถอนข้อตกลงในบันทึกเอกสารหมาย จ.1 ก็เป็นการถอนแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้ถอนด้วย จึงไม่มีผลให้ใช้ยันกันไม่ได้ โจทก์จำเลยยังคงต้องผูกพันตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.1ที่จำเลยฎีกาว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ว่า “ฯลฯ จดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์เดินเข้าออกตามขนาดที่ได้ใช้เดินเข้าออกอยู่เดิมคือกว้าง2 เมตร ตลอดแนว จึงต้องหมายความถึงภารจำยอมที่ใช้อยู่เดิมหาได้กำหนดขึ้นมาใหม่ไม่ นั้นเห็นว่า การได้ภารจำยอมเป็นทางเดินกว้าง 2 เมตร เป็นการได้ภารจำยอมตามข้อตกลงซึ่งจะต้องไปจดทะเบียนกันในภายหลัง ไม่ใช่เป็นการได้ภารจำยอมโดยอายุความและไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้มีภาระเพิ่มขึ้น โจทก์มีสิทธิให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยกว้าง 2 เมตร… เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดสนับสนุน ฝ่ายจำเลยมีนางช่วงเบิกความสนับสนุนจำเลยว่า จำเลยไม่ได้ก่อสร้างรุกล้ำ พยานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยก่อสร้างรุกล้ำ”
พิพากษายืน.

Share