แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพร้อมคำแปลมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า การกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ต้องคำนวณหาผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อตามกรมธรรม์มิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นรายได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายก่อน ดังนั้น กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพิพาทจึงกำหนดเงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญเสียรายได้ มิใช่การสูญเสียกำไร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 37,004,991.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 34,008,033.62 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 33,503,033.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในนามโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 16,053,689.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่บริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด โจทก์ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยรวม 3 สัญญา สัญญาที่ 1 ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ทุนประกัน 30,000,000 บาท สัญญาที่ 2 ประกันภัยเครื่องจักร ทุนประกัน 162,000,000 บาท สัญญาที่ 3 ประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สิน (สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม) ทุนประกัน 218,000,000 บาท ทั้งสามสัญญามีระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2552 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของโจทก์เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต อุปกรณ์บางส่วนระเบิดใช้การไม่ได้ บริษัทเอ็กเซสแอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด บริษัทผู้สำรวจภัยอิสระเข้าไปตรวจสอบพบว่า เหตุระเบิดเกิดที่ตู้สวิตซ์เกียร์หมายเลข 52 – 2 ซึ่งเป็นระบบควบคุมป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและผิดปกติ คดีในส่วนความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สิน ยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่พิพากษาให้จำเลยรับผิด 165,540 บาท และ 157,456.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามลำดับ โดยโจทก์และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ต้องคำนวณหาผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายจึงจะคำนวณค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยไว้นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพร้อมคำแปล ซึ่งจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าแปลผิดหรือไม่ถูกต้อง ระบุการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและความคุ้มครองว่า “การสูญเสียรายได้หรือค่าเช่า ค่าปรับที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมีสาเหตุมาจากการประกันภัย การเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมถึงความสูญเสียหรือความเสียหายต่อระบบหรืออุปกรณ์เครื่องจักร (โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อยกเว้นของกรมธรรม์)” โดยให้คำจำกัดความว่า “ธุรกิจสะดุดหยุดลง สัญญาการประกัน” ว่า “บริษัทตกลงว่าถ้ามีอาคารหรือทรัพย์สินอื่นไม่ว่าชนิดใดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือเสียหาย โดยภยันตรายที่ได้ประกันไว้… และธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยบริษัทได้รับการสะดุดหยุดลงเนื่องจากเหตุดังกล่าว หรือได้รับการรบกวน ดังนั้น บริษัทจะจ่ายเงินประกันจำนวนที่สูญหายไปจากการสะดุดหยุดลงนั้น…” แต่ให้บทนิยามคำว่า “กำไรทั้งหมด ภาระความรับผิดชอบการประกันภัยภายใต้รายการนี้จำกัดต่อภาระความรับผิดชอบรวมทั้ง แต่ไม่จำกัดต่อ – ค่าจ้าง เงินเดือน ค่าธรรมเนียมผู้อำนวยการ ค่าธรรมเนียมการตรวจบัญชี และค่าอาชีพอื่น… เงินกู้จ่ายคืน” คำว่า “อัตราของกำไรทั้งหมด – อัตราของกำไรทั้งหมดที่ได้ในเงินทุนหมุนเวียนระหว่างปีทางการเงินทันทีก่อนวันที่ของความเสียหาย” และระบุเงื่อนไขของการจ่ายเงินชดเชยว่า “ถ้าหากจำนวนเงินที่เอาประกันภัยโดยรายการนี้น้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้โดยการใช้อัตรากำไรทั้งหมดต่อเงินทุนหมุนเวียนประจำปี (หรือผลคูณที่เพิ่มขึ้นตามส่วนนั้นซึ่งระยะเวลาเงินชดเชยสูงสุดเกินสิบสองเดือน) จำนวนเงินพึงจ่ายจะลดลงตามส่วน” เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า หากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่โดยบริษัทได้รับการสะดุดหยุดลงเนื่องจากเหตุที่รับประกันภัยแล้วทำให้โจทก์ต้องสูญเสียรายได้ จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อพิจารณาคำว่า “รายได้” ก็มิได้มีระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นรายได้สุทธิหลังจากหักรายจ่ายทั้งหมดก่อน ดังนั้น กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกำหนดเงื่อนไขชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญเสียรายได้ มิใช่การสูญเสียกำไร จึงไม่สามารถนำรายได้ไปหักค่าใช้จ่ายแล้วมาคำนวณเพื่อหาค่าความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนได้ ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่าจำเป็นต้องคำนวณผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายของโจทก์ก่อนจึงจะคำนวณค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาต่อไปว่า โจทก์สูญรายได้เพียงใด เห็นว่า โจทก์มีนายอุกฤษณ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความว่า โจทก์มีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552 จำนวน 330 วัน เฉลี่ยวันละ 621,389.91 บาท ส่วนจำเลยนำสืบว่า โจทก์มีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนในช่วงเวลาเดียวกันโดยเป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย 207,721,126.62 บาท คิดเฉลี่ยจาก 365 วัน จะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 569,098.97 บาท โดยจำเลยโต้แย้งแต่เพียงว่าในช่วงเวลาดังกล่าว โจทก์มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 167,096,505.80 บาท แต่เมื่อนำรายได้ที่โจทก์นำสืบคิดเฉลี่ยในรอบสิบสองเดือน (365 วัน) ไม่ใช่ 330 วัน ตามที่โจทก์อ้างแล้วโจทก์จะมีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 561,804.57 บาท ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่าที่จำเลยอ้างซึ่งจะเป็นคุณกับจำเลยมากกว่า ดังนั้น จึงให้นำรายได้ ที่โจทก์นำสืบมาคำนวณค่าสินไหมทดแทนเฉลี่ย 365 วัน โจทก์จึงสูญเสียรายได้เฉลี่ยต่อวัน 561,804.57 บาท ส่วนปัญหาว่า ระยะเวลาในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมีกำหนดกี่วัน เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงักขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการหยุดซ่อมแซมระบบหรือเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายอันมีผลกระทบโดยตรงจากระเบิดของตู้สวิตซ์เกียร์ภายในห้องควบคุมการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า ความเสียหายที่ต้องซ่อมแซมมีเพียง Current Transformer (หม้อแปลงกระแส) 3 ตัว Volyage Transformer (หม้อแปลงแรงดัน) 3 ตัว และ Circuit Breaker 1 ตัว รวมราคา 665,450 บาท โจทก์สั่งซื้ออุปกรณ์มาจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 17 และ 20 กุมภาพันธ์ 2552 มีระยะเวลาการส่งของ 60 วัน โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 และนำอุปกรณ์มาติดตั้งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 และเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังความร้อนให้บริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด ได้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 โจทก์หยุดผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเวลา 229 วัน แม้โจทก์อ้างว่า หลังจากติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วเสร็จจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนว่าจะใช้การผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันทีหรือไม่ แต่หลังจากโจทก์ดำเนินการติดตั้งแล้ว โจทก์ดำเนินการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้เวลาตรวจสอบเพียง 7 วัน ก็สามารถใช้งานได้ การที่โจทก์ใช้เวลาซ่อมแซมอุปกรณ์นานถึง 229 วัน จึงเกินกว่าความจำเป็นในการหยุดซ่อมแซมระบบหรือเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหาย แม้ระยะเวลาการชดใช้ตามกรมธรรม์กำหนดไว้ 6 เดือน แต่เมื่อคำนวณระยะเวลาที่โจทก์ตรวจสอบความเสียหาย ระยะเวลาในการดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ที่เสียหายทดแทน ระยะเวลาสั่งสินค้ามาจากต่างประเทศ 60 วัน หลังจากได้รับใบสั่งซื้อ ระยะเวลาในการติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ โจทก์สมควรที่จะใช้ระยะเวลาแก้ไขข้อบกพร่องของอุปกรณ์ที่เสียหายดังกล่าวได้ภายใน 80 วัน ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า โจทก์ต้องดำเนินการซ่อมแซมอุปกรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 80 วัน จึงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดค่าปรับตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่ เห็นว่า ค่าปรับที่โจทก์ต้องจ่ายอันเนื่องจากการผิดสัญญาไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้า/หรือพลังงานความร้อนให้แก่บริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด เดือนละ 2,560,000 บาท หรือวันละ 85,333.33 บาท ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงัก ระบุการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนการสูญเสียค่าปรับที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมีสาเหตุมาจากการประกันภัย การเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมถึงความสูญเสียหรือความเสียหายต่องานระบบหรืออุปกรณ์เครื่องจักร ประกอบกับสัญญาโอนสิทธิโครงการลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ระหว่างโจทก์ ผู้รับโอนกับบริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด มีข้อตกลงระบุให้โจทก์ต้องรับผิดต่อบริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด เมื่อโจทก์ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าและ/หรือพลังงานความร้อนให้บริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด ได้ และจำเลยรับประกันธุรกิจหยุดชะงักพิพาทเกี่ยวกับสถานีผลิตไฟฟ้าและพลังงงานความร้อนเพื่อขายให้แก่บุคคลภายนอก หากเกิดความเสียหาย ทำให้โจทก์ต้องผูกพันและรับผิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญา และขณะจำเลยตกลงทำสัญญาประกันธุรกิจหยุดชะงัก ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และตามกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงักระบุความรับผิดของจำเลยเกี่ยวกับค่าปรับไว้ด้วย ค่าปรับดังกล่าวจึงเป็นความเสียหายที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ที่จำเลยยอมรับว่าต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่า โจทก์ได้ชำระค่าปรับให้แก่บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ หรือบุคคลภายนอกได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระแล้วหรือไม่ ส่วนการที่บุคคลภายนอกจะได้รับความเสียหายหรือไม่เนื่องจากไปซื้อกระแสไฟฟ้าจากบุคคลอื่น ก็เป็นสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ จำเลยจึงต้องรับผิดค่าปรับต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วย ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อมาว่า ความเสียหายส่วนแรกสามารถนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้หรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงัก ระบุ “ความเสียหายส่วนแรก 7 วัน” โดยไม่ปรากฏว่ามีการระบุข้อความไว้ชัดแจ้งในตารางกรมธรรม์ว่า ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายความเสียหายส่วนแรกเอง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีข้อตกลงให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายความเสียหายส่วนแรก 7 วัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ไม่สามารถนำความเสียหายส่วนแรก 7 วัน หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักต่อโจทก์เพียงใดนั้น เมื่อคำนวณค่าสินไหมทดแทน 80 วัน เป็นค่าขาดรายได้เฉลี่ยวันละ 561,804.57 บาท เป็นเงิน 44,944,365.60 บาท และรวมกับค่าปรับเฉลี่ยวันละ 85,333.33 บาท จำนวน 80 วัน คิดเป็นค่าปรับ 6,826,666.40 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด 51,771,032 บาท เมื่อจำนวนเงินเอาประกันภัยจำกัดความรับผิดไว้เพียง 30,000,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก 30,000,000 บาท เต็มตามจำนวนเงินเอาประกัน เมื่อรวมกับความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักรและกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่พิพากษาให้จำเลยรับผิด 165,540 บาท และ 157,456.50 บาท ตามลำดับแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์รวม 30,322,996.50 บาท ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 30,322,996.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ