คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด มิได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท
โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนโอนหุ้นที่มีชื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งหมดคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และพิพากษาแสดงว่านิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และเพิกถอนการโอนดังกล่าว แล้วจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 หากไม่อาจกระทำได้ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 181,520,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โอนหุ้น 3,348,000 หุ้น และให้จำเลยที่ 4 โอนหุ้น 2,232,000 หุ้น คืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายทรัพย์สินและการจดทะเบียนการโอนที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 และให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 5 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 16 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8636, 8637, 8649, 8651, 8652, 8653, 8656, 8659, 8663, 8668, 8755, 8756, 8943, 26105 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 291, 293 พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร 28 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องกลับคืนเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ดังเดิม และให้จำเลยที่ 3 โอนหุ้นตามฟ้องที่ถือครองไว้แทนโจทก์คืนแก่โจทก์ 2 หุ้น หากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ในกรณีที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับจำเลยที่ 5 ไม่สามารถโอนที่ดินพร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร 28 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์กลับคืนเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชดใช้เงินส่วนต่างแก่โจทก์เป็นเงิน 179,530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.6327/2554 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ส่วนโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.4647/2556 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ยื่นใบแต่งทนายให้ทนายความของโจทก์คงทำหน้าที่เป็นทนายต่อไป ถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์แสดงความประสงค์ขอเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์แล้ว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีการจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 โดยโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้ง เดิมใช้ชื่อว่า บริษัทแคฟแวลรี่ จำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และบุคคลอื่นรวม 7 คน เป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ถือหุ้นแทน 3,348,000 หุ้น ตามเลขที่หุ้น 06,851,1995 – 07,200,000 และ 07,200,002 – 10,199,995 ส่วนจำเลยที่ 4 ถือหุ้นแทน 2,232,000 หุ้น ตามเลขที่หุ้น 04,619,995 – 06,851,994 และจำเลยที่ 2 และที่ 4 ทำสัญญาโอนหุ้นที่ถือแทนดังกล่าวพร้อมหนังสือมอบอำนาจให้แก่โจทก์ไว้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ลงทุนในโครงการผลิตเอทานอลเป็นวงเงิน L/C, T/R เพื่อซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์จากต่างประเทศจำนวนเงินเทียบเท่าเงินบาท 386,000,000 บาท วงเงินกู้ระยะยาวเพื่อชำระหนี้ T/R เครื่องจักรอุปกรณ์ 280,000,000 บาท สินเชื่อหมุนเวียนจำนวนรวม 75,000,000 บาท วงเงิน L/G เพื่อค้ำประกันทั่วไป ยกเว้นการค้ำประกันสินเชื่อ วงเงิน 20,000,000 บาท วงเงิน F/E (B/S) เพื่อรองรับธุรกรรมต่างประเทศจำนวนรวม 10,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีหลักประกันเป็นการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และจำนำหรือจำนองเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหมดตามโครงการ และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งจำเลยที่ 2 และหรือครอบครัวของจำเลยที่ 2 ต้องคงสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตลอดอายุเงินกู้ของโครงการ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 โจทก์ทำสัญญาว่า สืบเนื่องจากโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 2 จัดหาสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 จนได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์จึงตกลงจะให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 28,000,000 บาท โดยมีการชำระเงินงวดแรก 2,800,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว ส่วนที่เหลือ 25,200,000 บาท จะแบ่งชำระเป็น 3 งวด ตามที่จะมีการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อตามงวดการเปิด Letter of Credit กับธนาคาร นอกจากนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ยังมีการทำข้อตกลงว่าหากเกิดความเสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคาร โจทก์จะเข้ารับผิดชอบชดใช้แทนจำเลยที่ 2 ในทันที ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาขายทรัพย์สินตามฟ้อง ได้แก่ ที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์แก่จำเลยที่ 5 ในราคารวม 465,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษาแสดงว่านิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ตกเป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายเอทานอลด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 1 ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทกับจำเลยที่ 1 ย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น ตามมาตรา 1015 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด มิได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้างโจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ ทั้งเมื่อพิจารณาถึงที่มาของทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรมสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ประกอบด้วยที่ดินโฉนดเลขที่ 8636, 8637, 8649, 8651, 8652, 8653, 8656, 8659, 8663, 8668, 8755, 8756, 8943, 26105 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 291, 293 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ปรากฏว่าที่ดินทั้งหมดเดิมมีชื่อบริษัทไทยอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แล้วบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8651, 8652, 8653, 8656, 8659, 8663, 8668, 8943 ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8636, 8637, 8649, 8755, 8756, 26105 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 291, 293 ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 เพื่อให้จำเลยที่ 1 สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นหลักประกันประกอบการขอสินเชื่อจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) แม้บริษัทไทยอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง จำกัด เจ้าของเดิมจะมีโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้ง มีชื่อถือหุ้น และมีชื่อเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทในช่วงที่มีการจดทะเบียนโอนขายที่ดิน ก็ไม่อาจทำให้โจทก์กลายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดดังกล่าวด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกับที่วินิจฉัยในเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ส่วนบรรดาเครื่องจักรตามที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายทรัพย์สินล้วนแต่มีการสั่งซื้อในนามของจำเลยที่ 1 โดยเงินที่ใช้ซื้อส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และมีส่วนน้อยที่มาจากเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่มีรายได้เข้าสู่บริษัท ทั้งไม่ปรากฏว่าบรรดาผู้มีชื่อถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน จึงน่าจะมาจากเงินทดรองจ่ายของโจทก์ แต่ก็ไม่ทำให้บรรดาเครื่องจักรดังกล่าวกลายเป็นทรัพย์สินของโจทก์ไปได้ เครื่องจักรทั้งหลายจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในส่วนของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จนได้รับบัตรส่งเสริมจากหน่วยงานดังกล่าวก็ดำเนินการด้วยการใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ในการขอรับการส่งเสริม มิได้กระทำในฐานะส่วนตัวของโจทก์ จนมีการออกบัตรส่งเสริมให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของบัตรส่งเสริมมีอำนาจดำเนินการกับบัตรดังกล่าวได้ แม้ในบางช่วงเวลาจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นนายนพดล ซึ่งโจทก์เบิกความยอมรับว่าเป็นพนักงานขับรถของโจทก์ ที่โจทก์ส่งเข้ามาเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 แล้วนายนพดลทำบันทึกลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ ทั้งที่มีในปัจจุบันและจะมีในอนาคตเมื่อสร้างโรงงานผลิตทั้งหมดแทนโจทก์ และจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์ โดยโจทก์ยังไม่ให้คำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเด็ดขาด การทำบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโอนทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีอยู่ในขณะทำบันทึกและที่จะมีต่อไปในภายหน้าให้เป็นทรัพย์สินของโจทก์เพียงผู้เดียว ทั้งที่หน้าที่ของกรรมการบริษัทต้องบริหารจัดการบริษัทไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ส่วนที่ 3 วิธีจัดการบริษัทจำกัด และตามข้อบังคับของบริษัท ภายใต้การครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ของบริษัท การทำบันทึกดังกล่าวอันจะมีผลให้ทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งหมดตกเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนแล้วหรือที่จะมีในภายหน้าย่อมทำให้บริษัทจำเลยที่ 1 เสียหาย ถึงแม้โจทก์จะมีข้ออ้างว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 แต่บทบัญญัติในเรื่องบริษัทจำกัดก็กำหนดให้บรรดาผู้ถือหุ้นชอบที่จะได้รับผลตอบแทนการถือหุ้นในรูปของเงินปันผล ซึ่งกำหนดวิธีการในการจ่ายเงินปันผลไว้ในบทบัญญัติมาตรา 1200 ถึงมาตรา 1205 มิใช่ให้นำทรัพย์สินของบริษัทมาโอนให้แก่ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมด การกระทำของนายนพดลจึงเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจการเป็นกรรมการบริษัท ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษาแสดงว่านิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ตกเป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องโอนหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ที่มีชื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถือหุ้น ให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์และฝ่ายจำเลยได้ความตรงกันว่าเมื่อแรกจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 120,000,000 บาท ต่อมาเมื่อมีการติดต่อขอสินเชื่อจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) มีการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทอีก 150,000,000 บาท กลายเป็น 270,000,000 บาท ตามคำแนะนำของธนาคารดังกล่าว แต่ที่มีการโต้แย้งกัน คือ การจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 735,000,000 บาท ซึ่งโจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้โจทก์ไม่ทราบเรื่องและมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำสืบโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความยืนยันว่าโจทก์รู้เห็นในการดำเนินการดังกล่าวเหมือนเช่นครั้งก่อนๆ เหตุที่มีการเพิ่มทุนในครั้งนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแนะนำให้จำเลยที่ 1 ทำการเพิ่มทุนจึงจะสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ โดยเมื่อมีการหารือร่วมกันระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว โจทก์เป็นคนกำหนดว่าจะให้ใส่ชื่อผู้ใดถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าใด แล้วโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในขั้นตอนการดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพียงแต่ลงลายมือชื่อในเอกสารที่โจทก์จัดเตรียมมา แล้วโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปดำเนินการเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ ไม่มีผู้ใดถูกเรียกให้ชำระเงินตามสัดส่วนที่มีการเพิ่มทุน ในเอกสารที่ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทประกอบการขอจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัท มีการแนบหนังสือซึ่งลงนามโดยจำเลยที่ 3 และนายนพดล คนขับรถของโจทก์ที่โจทก์ส่งเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทในฐานะกรรมการบริษัท ระบุว่ามีการชำระค่าหุ้นส่วนที่เพิ่มทุนครบถ้วนแล้ว เมื่อพิจารณาว่าการผลักดันให้กิจการของจำเลยที่ 1 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นความประสงค์ของโจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังที่โจทก์เบิกความว่าเป็นผู้มอบหมายให้นายนพดลเป็นผู้ยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โจทก์จึงน่าจะต้องติดตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อเห็นว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังไม่พิจารณาอนุญาตให้ส่งเสริมการลงทุนแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากติดปัญหาจำนวนทุนจดทะเบียนของบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมจะต้องดิ้นรนขวนขวายหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนแก่จำเลยที่ 1 ยิ่งกว่าจะเกิดจากความคิดริเริ่มของจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่นายนพดลซึ่งเป็นคนของโจทก์ร่วมลงชื่อในเอกสารที่ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่ามีการเก็บเงินค่าหุ้นส่วนที่เพิ่มทุนแล้ว โจทก์จึงน่าจะทราบเรื่องดังกล่าวด้วย การจดทะเบียนเพิ่มทุนในครั้งหลังนี้จึงอยู่ในการรู้เห็นและริเริ่มของโจทก์ อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์รู้เห็นและเป็นผู้ดำเนินการให้มีการยื่นเรื่องจดทะเบียนเพิ่มทุนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท การเรียกเก็บเงินค่าหุ้นในส่วนที่มีการเพิ่มทุนในครั้งนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ โจทก์จึงย่อมเป็นคนที่ทราบเรื่องดีว่าไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าหุ้นในส่วนที่มีการเพิ่มทุนในครั้งหลังนี้ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เบิกความรับว่าโจทก์เป็นผู้ดำเนินการในการจดทะเบียนเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพียงแต่ลงลายชื่อในเอกสารที่ฝ่ายโจทก์จัดทำมา จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีการชำระค่าหุ้นในส่วนที่มีการเพิ่มทุนแต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความว่าหุ้นที่มีการเพิ่มทุนในครั้งนี้มีการชำระค่าหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว เป็นการเบิกความตามที่มีการระบุในหนังสือยืนยันการชำระเงินค่าหุ้นที่ฝ่ายโจทก์จัดทำยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จึงต้องรับฟังว่าไม่มีการเรียกเก็บและชำระเงินค่าหุ้นที่มีการเพิ่มทุนในครั้งหลังนี้แต่ประการใด อย่างไรก็ตาม โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ โดยอ้างอิงถึงหนังสือมอบอำนาจและสัญญาโอนหุ้น เมื่อย้อนไปพิจารณาบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 อันเป็นเวลาก่อนหน้าที่โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ ขณะนั้นทุนจดทะเบียนของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 120,000,000 บาท คิดเป็น 12,000,000 หุ้น มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วยบริษัทเซ็นติซอร์ฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่โจทก์จดทะเบียนก่อตั้งขึ้น 4,619,992 หุ้น โดยมีการลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 2 ถือหุ้น 1,800,000 หุ้น โดยมีการลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 3 ถือหุ้น 1 หุ้น โดยมีการลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 4 ถือหุ้น 1 หุ้น โดยมีการลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 โจทก์ถือหุ้น 5,580,000 หุ้น โดยมีการลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 นายนพดลถือหุ้น 2 หุ้น โดยมีการลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 และวันที่ 20 กันยายน 2545 นอกจากนี้ยังมีพลเอกสงคราม พันตำรวจเอกวิสนุ และนายชาคริต ถือหุ้นอีกคนละ 1 หุ้น การถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในบริษัทจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับหนังสือมอบอำนาจและสัญญาโอนหุ้น ที่โจทก์อ้างอิงแต่อย่างใด ต่อมาบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ ขณะนั้นหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ยังมีอยู่ 12,000,000 หุ้น เท่าเดิม มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่มีชื่อโจทก์ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 อีกต่อไป จำเลยที่ 2 ถือหุ้นเป็น 5,148,000 หุ้น เพิ่มขึ้นจากเดิม 3,348,000 หุ้น โดยหุ้นที่ถือเพิ่มระบุว่ามีการลงทะเบียนเพิ่มเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546 จำเลยที่ 4 ถือหุ้นเป็น 2,232,001 หุ้น เพิ่มขึ้นจากเดิม 2,232,000 หุ้น โดยหุ้นที่ถือเพิ่มระบุว่ามีการลงทะเบียนเพิ่มเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546 ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นยังคงถือหุ้นเท่าเดิม เมื่อรวมหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 4 จะเป็นจำนวนหุ้น 5,580,000 หุ้น เท่ากับจำนวนหุ้นที่โจทก์เคยถือหุ้นอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ถือหุ้นแทน 3,348,000 หุ้น ส่วนจำเลยที่ 4 ถือหุ้นแทน 2,232,000 หุ้น และจำเลยที่ 2 และที่ 4 ทำสัญญาโอนหุ้นที่ถือแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ไว้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546 โดยนอกจากหุ้น 5,580,000 หุ้น ที่โจทก์เคยถืออยู่แล้วมีการมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจแล้ว โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ก่อนวันที่ 4 สิงหาคม 2546 เป็นการถือหุ้นแทนโจทก์ ส่วนการที่ต่อมาเมื่อมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทจำเลยที่ 1 ในครั้งแรก มีการเพิ่มขึ้นของหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถืออยู่ ไม่ปรากฏว่ามีการให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำหลักฐานการถือหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นการถือหุ้นแทนโจทก์เหมือนเมื่อครั้งที่มีการทำหลักฐานกันไว้ในวันที่ 4 สิงหาคม 2546 จึงต้องรับฟังว่าการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ในช่วงก่อนหน้าวันที่ 4 สิงหาคม 2546 และที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มทุนครั้งแรกของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยึดถือหุ้นเพื่อตนมิได้เป็นการยึดถือแทนโจทก์ จึงไม่จำต้องโอนหุ้นที่อยู่นอกเหนือจากที่ปรากฏหลักฐานคืนให้แก่โจทก์ และเนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ทำสัญญาโอนหุ้นส่วนที่ถือแทนคืนให้แก่โจทก์มอบให้แก่โจทก์ไปแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 มิได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการนำเอกสารสัญญาโอนหุ้นไปดำเนินการจดบันทึกไว้ในสมุดทะเบียนของบริษัท หากแต่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการ จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไปดำเนินการให้ได้ แม้โจทก์มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 ไปทำการแก้ไขสมุดทะเบียนของบริษัท แต่ก็มีการบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสถานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทจำเลยที่ 1 พอถือได้ว่าประสงค์จะให้กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลดำเนินการแก้ไขสมุดทะเบียนของบริษัทจำเลยที่ 1 ตามอำนาจหน้าที่ของตน อันเป็นการบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 โดยปรากฏหลักฐานว่าโจทก์เคยมอบหมายให้ทนายความแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนหุ้นที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือแทนโจทก์คืนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์สามารถนำเอกสารไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 ให้ทำการแก้ไขได้เอง อาจเกิดปัญหาเมื่อโจทก์นำเอกสารไปติดต่อขอดำเนินการแล้วอาจถูกจำเลยที่ 1 ปฏิเสธได้อีก จึงเห็นควรวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับไปดำเนินการ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
สำหรับฎีกาข้ออื่นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษาแสดงว่านิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ตกเป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทนหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้ การพิจารณาฎีกาที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขชื่อเจ้าของหุ้นในสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ถือแทนโจทก์ 3,348,000 หุ้น และที่จำเลยที่ 4 ถือแทนโจทก์ 2,232,000 หุ้น เป็นชื่อโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share