แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 กำหนดให้เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งในมาตรา 7 วรรคสอง (2) กำหนดให้เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ กำหนดให้ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว “(1) ชื่อประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศ ชื่อภูมิภาค หรือเขตปกครองตนเองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ (2) ชื่อแคว้น รัฐ หรือมณฑล (3) ชื่อเมืองหลวง เมืองท่า จังหวัด หรือเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (4) ชื่อทวีป (5) ชื่อมหาสมุทร ทะเล อ่าว คาบสมุทร แหลม เกาะ หมู่เกาะ หรือทะเลสาบ (6) ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลาย เช่น ภูเขา แม่น้ำ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ถนน เป็นต้น ชื่อทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ให้หมายความรวมถึงชื่อย่อ ชื่อเดิม หรือชื่อที่ใช้เรียกขานทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะชื่อในทางราชการ” ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับตามพจนานุกรม Webster’s New Geographical Dictionary ให้ความหมายคำว่า “Milwaukee” ไว้ด้วยว่าหมายถึง “Commercial and industrial city and lake port …” จึงอาจแปลได้ว่า เมืองพาณิชย์และอุตสาหกรรมและท่าเรือทะเลสาบ อันถือได้ว่าเป็นเมืองท่า ซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้งในความหมายดังกล่าว ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ว่าคำดังกล่าวแปลว่า เมืองท่า ดังนี้ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า “Milwaukee” เป็นชื่อเมืองท่า และเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ ข้อ 2 (3) โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าชื่อเมืองท่าดังกล่าวเป็นชื่อที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลายแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์ จึงเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์จะประกอบไปด้วยภาคส่วนรูปประดิษฐ์คล้ายสายฟ้าอยู่ใต้คำดังกล่าวด้วย แต่คำว่า “Milwaukee” ถือเป็นภาคส่วนสำคัญในเครื่องหมาย ทั้งเมื่อรวมกันแล้วก็ยังคงอ่านออกเสียงเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เช่นเดิม เครื่องหมายการค้า ของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ชอบที่นายทะเบียนจะมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน
ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ทั้งสี่คำขอได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม หรือไม่นั้น จำเลยได้ให้โจทก์ส่งหลักฐานเพื่อพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งต่อมาโจทก์ส่งเอกสารอธิบายความเป็นมาของบริษัทโจทก์และบริษัทในเครือ เอกสารแสดงการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ สำเนาใบแจ้งหนี้การจำหน่ายสินค้า สำเนาหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว หลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารแสดงประวัติของบริษัท การโฆษณาและใบแจ้งหนี้แสดงการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าเริ่มมีการใช้ การโฆษณาหรือการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตั้งแต่เมื่อใด เป็นจำนวนเท่าไรและเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องเพียงใด แพร่หลายในประเทศไทยหรือไม่ จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ได้มีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่นตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์จึงไม่ได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้อันพึงรับจดทะเบียนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/30132, พณ 0704/30133, พณ 0704/30134, พณ 0704/30135 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 760/2557, 761/2557, 762/2557 และ 763/2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว ให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 790164, 790165, 790166 และ 790167 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือที่ พณ 0704/30132, พณ 0704/30133, พณ 0704/30134, พณ 0704/30135 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 760/2557, 761/2557, 762/2557 และ 763/2557 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 790164, 790165, 790166 และ 790167 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า อ่านว่า มิลวอกี้ แปลไม่ได้ จำนวน 4 คำขอ ตามคำขอเลขที่ 790164 ในสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้า เช่น อุปกรณ์ส่งกำลังสำหรับใช้กับเครื่องจักร เครื่องมือเลื่อยและตัดชนิดส่งกำลัง เครื่องเจาะวัสดุชนิดส่งกำลัง เลื่อยชนิดไฟฟ้า สว่านไฟฟ้า เครื่องตัดหญ้า คำขอเลขที่ 709165 ในสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้า เช่น เครื่องสำหรับเจาะรูชนิดใช้มือ เครื่องมือตัดชนิดใช้มือ เลื่อยชนิดใช้มือ เครื่องมือทำสวน ค้อน ไขควง คำขอเลขที่ 790166 ในสินค้าจำพวกที่ 9 รายการสินค้า เช่น อุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า เครื่องควบคุมความปลอดภัยในการเข้าออกระบบอัตโนมัติ เครื่องระบบและอุปกรณ์สัญญาณเตือนภัย เครื่องขยายเสียง เครื่องวัดแรงดันไฟฟ้า และคำขอเลขที่ 790167 ในสินค้าจำพวกที่ 11 รายการสินค้า เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองอากาศ เครื่องกรองน้ำ เตาอบไฟฟ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์ส่งหลักฐานนำสืบลักษณะบ่งเฉพาะเพราะคำว่า “Milwaukee” เป็นชื่อเมืองท่าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมลรัฐวิสคอนซิน (WISCONSIN) ที่อยู่ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์ส่งหลักฐานและชี้แจงถึงความมีลักษณะบ่งเฉพาะต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนมีคำสั่งว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสี่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เพราะคำว่า “Milwaukee” เป็นชื่อเมืองท่าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมลรัฐวิสคอนซินที่อยู่ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ “Milwaukee” เป็นชื่อเมืองท่าที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันแพร่หลายแล้ว และมีข้อบกพร่องเพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้อ่านแปลใหม่ดังนี้ “Milwaukee” อ่านว่า มิววอกี้ เป็นชื่อเมืองท่าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของ WISCONSIN เป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นชื่อแม่น้ำ ชื่อเมือง โดยคำขอเลขที่ 790166 นายทะเบียนยังมีคำสั่งด้วยว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 250472 ทะเบียนเลขที่ ค25741 ด้วย ปรากฏรายละเอียดตามหนังสือของสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ พณ 0704/30132, พณ 0704/30133, พณ 0704/30134 และ พณ 0704/30135 โจทก์ยื่นแบบขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนโดยขอยกเลิกคำอ่านและคำแปลที่ปรากฏตามคำขอเดิมและขอจดข้อความตามที่นายทะเบียนมีคำสั่งข้างต้น และโจทก์อุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาคส่วนอักษรโรมัน คำว่า “Milwaukee” อันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ซึ่งตามพจนานุกรม Webster’s New Geographical Dictionary คำดังกล่าวหมายถึง “1. River, SE Wisconsin; 100 m. long; rises in Fond du Lac co., flows into Lake Michigan at Milwaukee. 2. County in SE Wisconsin. See table at WISCONSIN.” แปลว่า ชื่อแม่น้ำและชื่อเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมลรัฐวิสคอนซิน และยังหมายถึง “3. Commercial and industrial city and lake port … ” แปลว่า ท่าเรือทะเลสาบ นับว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงไม่ชอบที่จะรับจดทะเบียน หลักฐานที่โจทก์นำส่งยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าเครื่องหมายดังกล่าวได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จัก และเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น สำหรับคำขอเลขที่ 790166 ซึ่งมีการอุทธรณ์ในประเด็นเหมือนคล้าย คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว และมีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียน ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 760/2557, 761/2557, 762/2557 และ 763/2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 790164, 790165, 790166 และ 790167 ของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และนายทะเบียนชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำว่า “Milwaukee” เป็นชื่อเมืองท่าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมลรัฐวิสคอนซิน (WISCONSIN) ที่อยู่ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) โดยคำดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า ทั้งตามพจนานุกรม Webster’s New Geographical Dictionary คำดังกล่าวหมายถึง “1. River, SE Wisconsin; 100 m. long; rises in Fond du Lac co., flows into Lake Michigan at Milwaukee. 2. County in SE Wisconsin. See table at WISCONSIN.” แปลว่า ชื่อแม่น้ำและชื่อเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมลรัฐวิสคอนซิน และยังหมายถึง “3. Commercial and industrial city and lake port … ” แปลว่า ท่าเรือทะเลสาบ นอกจากนี้โจทก์เองก็ยอมรับโดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้อ่านและแปลใหม่ แต่กลับยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนยอมรับว่าคำดังกล่าวเป็นชื่อเมืองท่า แม่น้ำ และเมือง เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 กำหนดให้เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งในมาตรา 7 วรรคสอง (2) กำหนดให้เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ กำหนดให้ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว “(1) ชื่อประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศ ชื่อภูมิภาค หรือเขตปกครองตนเองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ (2) ชื่อแคว้น รัฐ หรือมณฑล (3) ชื่อเมืองหลวง เมืองท่า จังหวัด หรือเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (4) ชื่อทวีป (5) ชื่อมหาสมุทร ทะเล อ่าว คาบสมุทร แหลม เกาะ หมู่เกาะ หรือทะเลสาบ (6) ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลาย เช่น ภูเขา แม่น้ำ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ถนน เป็นต้น ชื่อทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ให้หมายความรวมถึงชื่อย่อ ชื่อเดิม หรือชื่อที่ใช้เรียกขานทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะชื่อในทางราชการ” ประกอบกับตามพจนานุกรม Webster’s New Geographical Dictionary ให้ความหมายคำว่า “Milwaukee” ไว้ด้วยว่าหมายถึง “Commercial and industrial city and lake port … ” จึงอาจแปลได้ว่า เมืองพาณิชย์และอุตสาหกรรมและท่าเรือทะเลสาบ อันถือได้ว่าเป็นเมืองท่า ซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้งในความหมายดังกล่าว ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ว่าคำดังกล่าวแปลว่า เมืองท่า ดังนี้ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า “Milwaukee” เป็นชื่อเมืองท่า และเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ ข้อ 2 (3) โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าชื่อเมืองท่าดังกล่าวเป็นชื่อที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลายแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์ จึงเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์จะประกอบไปด้วยภาคส่วนรูปประดิษฐ์คล้ายสายฟ้าอยู่ใต้คำดังกล่าวด้วย แต่คำว่า “Milwaukee” ถือเป็นภาคส่วนสำคัญในเครื่องหมาย ทั้งเมื่อรวมกันแล้วก็ยังคงอ่านออกเสียงเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เช่นเดิม เครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 790164, 790165, 790166 และ 790167 ของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ชอบที่นายทะเบียนจะมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ทั้งสี่คำขอได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม หรือไม่ จำเลยได้ให้โจทก์ส่งหลักฐานเพื่อพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งต่อมาโจทก์ส่งเอกสารอธิบายความเป็นมาของบริษัทโจทก์และบริษัทในเครือ เอกสารแสดงการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ สำเนาใบแจ้งหนี้การจำหน่ายสินค้า สำเนาหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ เห็นว่า หลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารแสดงประวัติของบริษัท การโฆษณาและใบแจ้งหนี้แสดงการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าเริ่มมีการใช้ การโฆษณาหรือการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตั้งแต่เมื่อใด เป็นจำนวนเท่าไรและเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องเพียงใด แพร่หลายในประเทศไทยหรือไม่ จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ได้มีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่นตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์จึงไม่ได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้อันพึงรับจดทะเบียนได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ