คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์แพ้คดีและต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างโจทก์ตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานจำเลยตามคำพิพากษาศาลแรงงานในคดีนี้แล้ว แต่โจทก์กลับมาอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง อันจะมีผลให้โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลแรงงานเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่สุจริต ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 และไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)ที่บัญญัติให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้าง ทุจริตต่อหน้าที่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมิได้ให้ความหมาย คำว่า “ทุจริต” ไว้ และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) กรณีจึงต้องใช้ความหมาย คำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือ หมายความว่า ความประพฤติชั่วโกงไม่ซื่อตรง
ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยได้รับค่าจ้างวันละ 190 บาทละทิ้งงานไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แม้ว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในระยะเวลาที่ ส. ละทิ้งงาน แต่ก็เกิดโทษแก่นายจ้างน้อย ยังไม่พอถือว่า ส. มีความประพฤติชั่ว โกง หรือไม่ซื่อตรง จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 2กันยายน 2541 จำเลยทั้งสองมีคำเตือนที่ 14/2541 ถึงโจทก์ผู้เป็นนายจ้างให้จ่ายค่าชดเชยแก่นายไสว พลบุตรศรี ผู้เป็นลูกจ้างเป็นเงิน 17,100 บาทภายใน 5 วัน นับแต่รับคำเตือนซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะนายไสวละทิ้งหน้าที่ ถือได้ว่านายไสวจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้เพิกถอนคำเตือนของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองออกคำเตือนที่ 14/2541โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำเตือนที่ 14/2541ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำเตือนที่ 14/2541 ลงวันที่ 2 กันยายน 2541ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายไสว พลบุตรศรี ลูกจ้างโจทก์เป็นเงิน17,100 บาท ภายใน 5 วัน นับแต่วันรับคำเตือน และวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ออกคำเตือนในขณะนั้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 5 ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 77 ได้ออกคำเตือนที่ 14/2541 ลงวันที่ 2กันยายน 2541 แต่ก่อนออกคำเตือนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับซึ่งมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 จึงมีผลเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และในบทเฉพาะกาล มาตรา 164 มีข้อยกเว้นเพียงคำร้องที่ยังไม่ถึงที่สุดหรือคดีที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับที่จะต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน หลังจากกฎหมายใหม่ใช้บังคับจึงเป็นคำเตือนที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 124 โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 139, 140 ถือได้ว่ามีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นับแต่เมื่อคำเตือนไปถึงโจทก์ ซึ่งก่อให้เกิดมูลคดี ขอให้เพิกถอนคำเตือนเมื่อจำเลยทั้งสองสั่งให้โจทก์ชำระค่าชดเชยแก่นายไสว แม้ในการยื่นฟ้องคดี โจทก์จะไม่ได้นำเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งจำเลยทั้งสองมาวางต่อศาลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 125 แต่เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งให้โจทก์นำเงินมาวางต่อศาลภายใน 3 วัน โจทก์ก็ปฏิบัติตาม ศาลจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อกรณีถือได้ว่าศาลใช้อำนาจขยายระยะเวลาให้แล้ว การที่นายไสวละทิ้งหน้าที่เพียง 1 ชั่วโมง แม้จะหลีกเลี่ยงการทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการทำงานตอบแทน ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นเพียงหนังสือภายในมิใช่หนังสือเตือนตามกฎหมาย กรณียังถือไม่ได้ว่านายไสวกระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้วในการออกคำเตือนให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายไสว คำเตือนที่ 14/2541 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 164 บัญญัติว่า”คำร้องที่ยังไม่ถึงที่สุดหรือคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 จนกว่าคำร้องหรือคดีนั้น ๆ จะถึงที่สุด” คำร้องของนายไสว พลบุตรศรี ลูกจ้างโจทก์ที่ยื่นต่อจำเลยทั้งสองเป็นคำร้องที่ยื่นก่อนการใช้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และยังไม่ถึงที่สุดจึงต้องใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จะใช้บังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ได้ อีกทั้งคำเตือนของจำเลยทั้งสองก็ระบุว่าออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 77แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 หาได้ออกโดยอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 139 และ 140 ไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าคดีนี้ต่างไปจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 93/2524 ที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างไม่ใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้นายจ้างปฏิบัติตาม ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธินายจ้างที่จะมาฟ้องต่อศาลได้ เพราะปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ เท่ากับโจทก์บรรยายฟ้องว่าคำเตือนที่ 14/2541 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นคำสั่งตามมาตรา 124 เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแต่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำเตือนที่ 14/2541 ออกตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 77 ไม่ได้ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 139 และ 140ซึ่งเท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่า คำเตือนที่ 14/2541 ไม่ใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยให้โจทก์ปฏิบัติตาม ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 อีกทั้งการที่โจทก์แพ้คดีต้องจ่ายค่าชดเชยแก่นายไสว พลบุตรศรีลูกจ้างโจทก์ตามคำเตือนที่ 14/2541 ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแล้ว โจทก์กลับมาอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอันจะมีผลให้โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 โจทก์จะอ้างความไม่สุจริตมาอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องได้ไม่ ปัญหาการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นายไสวจงใจละทิ้งงานและจะเอาค่าจ้างในระหว่างที่ละทิ้งงาน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ยังถือไม่ได้ว่านายไสวกระทำการทุจริตต่อหน้าที่เป็นการวินิจฉัยผิดจากความหมายคำว่า “โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) นั้น เห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 47(1) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต”ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) จึงต้องใช้ความหมายความคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือ ความประพฤติชั่วโกง ไม่ซื่อตรง การที่นายไสวซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยได้รับค่าจ้างวันละ 190 บาท ละทิ้งงานไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แม้ว่าโจทก์จะต้องจ่ายค่าจ้างในระยะเวลาที่นายไสวละทิ้งงาน แต่ก็เกิดโทษแก่โจทก์น้อยยังไม่พอถือว่านายไสวมีความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่”

พิพากษายืน

Share