แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เมื่อคดีนี้กรมชลประทานจำเลยที่ ๕ เป็นกรมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เนื่องจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเท่านั้น โดยในส่วนของการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของฝ่ายปกครองไว้แต่ฝ่ายปกครองละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่นั้น แม้ข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ กำหนดให้จำเลยที่ ๕ มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เพียงพอและจัดน้ำให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทตลอดจนป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำโดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับการชลประทานก็ตาม แต่การกระทำซึ่งเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ โจทก์อ้างว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ ๒ ผู้รับจ้างจำเลยที่ ๕ ขุดรื้อคันดินกั้นน้ำออกโดยไม่มีการแจ้งเตือนให้โจทก์หรือผู้ใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำทราบล่วงหน้า ทำให้น้ำเน่าเสียท่วมขังจากลำห้วยใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำพองจนขุ่นและสกปรก มีค่าแอมโมเนีย – ไนโตรเจน สูงเกินมาตรฐาน เป็นเหตุให้ปลาของโจทก์ซึ่งเพาะเลี้ยงในกระชังตายทั้งหมด โดยมีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ เป็นผู้สั่งการ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๕ จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โดยโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ ๕ ละเลยไม่ดำเนินการตามภารกิจตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนั้น การกระทำตามที่ปรากฏในฟ้องจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามความหมายของมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนและจำเลยที่ ๕ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากมูลละเมิดเดียวกัน เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีประการสำคัญเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน และการที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วยหรือไม่ เพียงใด ก็ย่อมเกี่ยวพันกับการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางแพ่ง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม