แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายสองจำนวน คือเงินที่โจทก์ต้องเพิ่มค่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้าง 856,067.45 บาท และเงินที่โจทก์ต้องจ้างผู้ควบคุมงาน 36,200 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 856,067.45 บาท ยกฟ้องค่าเสียหายส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงาน โดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยรับผิดในส่วนที่ศาลยกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายในส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานโจทก์ได้รับความเสียหายจริง จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ต้องถือว่าปัญหาได้ยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว และไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตาม มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
สัญญาว่าจ้างก่อสร้างข้อ 20 ระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในสัญญาข้อ 3 และ (2) ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไป ส่วนสัญญาข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 เป็นเงิน มอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญา ข้อ 20(1) และ (2) จากจำเลยทั้งสามได้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญากับโจทก์รับจ้างทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตพร้อมอาคารชลประทานและวางท่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนความดันสถานีสูบน้ำบ้านนามน อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานีรวมความยาวคลอง 3,851.78 เมตร ท่อส่งน้ำถึงบ่อพักยาว 800 เมตรบ้านพักพนักงานสูบน้ำ 1 หลัง รวมเป็นเงิน 3,028,000 บาท มีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นเงินไม่เกิน 302,800 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตได้ความยาวคลอง 1,295 เมตร ดาดคอนกรีตยาว 1,164.7 เมตร ซึ่งคิดคำนวณเป็นเงินทั้งสิ้น 1,730,631.40 บาท แต่เนื่องจากคลองส่งน้ำตามแบบและรายการเดินผ่านเข้าไปในเขตที่ดินของโรงพยาบาล อำเภอตาลสุมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะทำการก่อสร้างตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน โจทก์ดำเนินการแก้ไขแนวก่อสร้างคลองใหม่เพื่อให้พ้นเขตที่ดินของโรงพยาบาล แต่จะต้องเพิ่มเงินค่าก่อสร้างอีก 304,033 บาท และจะต้องเพิ่มระยะเวลาการทำงานอีก 123 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ตกลงยินยอม ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการผิดสัญญาจ้างก่อสร้าง โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 31 สิงหาคม 2527 ทำให้โจทก์ต้องว่าจ้างบุคคลอื่นให้ทำการก่อสร้างในส่วนที่เหลือจากที่จำเลยที่ 1 ทำค้างไว้จนแล้วเสร็จ โดยคิดเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น 2,575,895.66 บาท เมื่อใช้ราคาต่อหน่วยตามในเสนอราคาเดิมที่จำเลยที่ 1 ได้เสนอราคาไว้จะเป็นเงิน 1,719,828.21 บาท ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์จะต้องเพิ่มเงินจ้างบุคคลอื่นเป็นเงิน 856,067.45 บาท โดยต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง 181 วัน ซึ่งต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นรายวันในอัตราวันละ 200 บาท รวมเป็นเงินค่าควบคุมงาน 36,200 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 892,267.45 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญา และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 302,800 บาท ให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันโจทก์ มีหนังสือทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 892,267.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 302,800 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา เพราะได้บอกเลิกสัญญากับสำนักงานพลังงานแห่งชาติไปแล้วและสำนักงานพลังงานแห่งชาติไม่ได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นรายวัน แม้โจทก์จะจ้างบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และโจทก์มิได้จ้างผู้ควบคุมงาน หากโจทก์แปรสภาพมาจากสำนักงานพลังงานแห่งชาติ โจทก์ก็มีข้าราชการในสังกัดคอยควบคุมงาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้เพราะเหตุว่า แนวคลองส่งน้ำตามแบบของสัญญาซึ่งโจทก์เป็นผู้ออกแบบได้ผ่านเข้าไปในเขตที่ดินของบุคคลอื่น ต่อมาโจทก์ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติม แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติงานตามส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ได้ เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยโจทก์ไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มให้จึงมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะโจทก์วางแผนผิดพลาดเองคดีของโจทก์ขาดอายุความ 2 ปีแล้ว ทั้งโจทก์ได้ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 856,067.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (25 มิถุนายน 2535)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวเป็นเงิน 302,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์สองจำนวน คือจำนวนหนึ่งเป็นเงินที่โจทก์ต้องเพิ่มเงินจ้างบุคคลอื่นเป็นเงิน 856,067.45 บาท และอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินที่โจทก์ต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นเงิน 36,200 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 856,067.45 บาท แต่ยกฟ้องค่าเสียหายส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นเงิน 36,200 บาท โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท โจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายในส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานเป็นเงิน 36,200 บาท เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายจริง ปัญหาว่าค่าเสียหายในส่วนต้องจ้างผู้ควบคุมงานโจทก์ได้รับความเสียหายจริงหรือไม่ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ส่วนนี้ให้โจทก์จึงไม่ชอบ ต้องถือว่าปัญหาที่โจทก์ได้รับความเสียหายที่ต้องจ้างผู้ควบคุมงานหรือไม่ได้ยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว และไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 3จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ หรือต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงิน 302,800 บาท ต่างหากจากจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิด เห็นว่าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตพร้อมอาคารชลประทานและบ้านพักพนักงานสูบน้ำบ้านนามน อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 20 ระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในสัญญาข้อ 3 และ (2) ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ส่วนสัญญาข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 302,800 บาท มอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 20(1) และ (2) จากจำเลยทั้งสามได้ทั้งสองจำนวนแต่ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 20(1) และ (2) เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้วเห็นว่าที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์เป็นเงินจำนวน 856,067.45 บาท นั้น ถือว่าเป็นการเพียงพอคุ้มกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้วจึงไม่กำหนดให้จำเลยที่ 3 ต้องรับต่อโจทก์แยกต่างหากเป็นอีกจำนวนหนึ่ง แต่เห็นสมควรให้ร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวในวงเงินไม่เกิน 302,800 บาท นั้นนับว่าเหมาะสมและสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งหมดให้แก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ