คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8946/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มี ห. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยได้รับการยกให้จากบิดาและครอบครองต่อมาอีก 27 ปี เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ห. จึงครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2520 ซึ่งผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 100 ไร่ กรณีการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนนั้นมีสิทธิในที่ดินต่อไป แต่ต้องไม่เกินหนึ่งพันไร่ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 29 วรรคสอง ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเฉพาะที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตาม ป.ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ราชพัสดุที่กระทรวงการคลังได้มาเนื่องจากการจัดซื้อของ ส.ป.ก. หรือมีผู้ยกให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ การโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวมิให้นำความในมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ราชพัสดุนอกจากนี้ไม่อาจนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เนื่องจากการโอนที่ราชพัสดุให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 5 เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นผู้ครอบครองมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และไม่ใช่ที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ ส.ป.ก. จะใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ดังนั้น ที่ ส.ป.ก. ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่ อ. อันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกหนังสืออนุญาตดังกล่าวทำให้ที่ดินพิพาทที่ถูกยึดขายทอดตลาดได้เป็นที่ดินที่ไม่อาจถูกบังคับคดีได้ก็ตาม แต่คดีนี้เป็นการพิจารณาเพียงว่าสมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่เท่านั้น เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อออกขายทอดตลาด มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนกัน และยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีจึงมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ถอนการบังคับคดี การเพิกถอนการขายทอดตลาดมีผลเพียงเท่ากับยังมิได้ขายทอดตลาด ต่อไปภายหน้าหากเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินยุติลงก็อาจนำออกขายทอดตลาดใหม่ได้ ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดกับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข.) ที่ออกให้แก่ อ. นั้น ฉบับใดจะออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องว่ากล่าวกันต่อไปต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มิถุนายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1543 เลขที่ดิน 3 หน้า 43 เล่ม 16 ก ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง ขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ยกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 คืนเงินมัดจำ 70,000 บาท และขอให้พ้นภาระผูกพันตามสัญญาซื้อขายที่ดิน
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติโดยที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1543 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มีนายอุดมเป็นผู้ทำประโยชน์ โดยอาศัยสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก 4-01 ข.) เลขที่ 1178 และผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า สมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1543 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เนื้อที่ 49 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา ออกเอกสารสิทธิในที่ดิน (น.ส. 3 ก) ตามประกาศผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เดินสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิทั้งตำบล ซึ่งมีนายเหรียญทอง เป็นผู้ครอบครองและทำบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ นายเหรียญทองครอบครองที่ดินพิพาทโดยได้รับให้จากนายเพ็งบิดาและครอบครองต่อมาอีกรวม 27 ปี เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผู้ใดคัดค้าน นายเหรียญทองจึงครอบครองที่ดินมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2520 ซึ่งผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 100 ไร่ กรณีการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ให้ผู้ครอบครองมาก่อนนั้นมีสิทธิในที่ดินต่อไป แต่ต้องไม่เกินหนึ่งพันไร่ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 29 วรรคสอง ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเฉพาะที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ราชพัสดุที่กระทรวงการคลังได้มาเนื่องจากการจัดซื้อของ ส.ป.ก. หรือมีผู้ยกให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนที่ราชพัสดุให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ การโอนที่ราชพัสดุมิให้นำความในมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ราชพัสดุนอกจากนี้ไม่อาจนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เนื่องจากการโอนที่ราชพัสดุให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 8 และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 5 เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นผู้ครอบครองมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและไม่ใช่ที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ ส.ป.ก. จะใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ดังนั้น ที่ ส.ป.ก. ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่นายอุดม เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 โดยคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินในเอกสารระบุว่า ได้ที่ดินมา พ.ศ.2524 ซื้อมาจากนายเผด็จในราคาไร่ละ 1,200 บาท นายอุดมซึ่งครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว ส่วนนายเผด็จก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาท อันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน อันทำให้ที่ดินพิพาทที่ถูกยึดขายทอดตลาดได้ เป็นที่ดินที่ไม่อาจถูกบังคับคดีได้ก็ตาม แต่คดีนี้เป็นการพิจารณาเพียงว่า สมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่เท่านั้น เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อนำออกขายทอดตลาดนั้น มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนกัน และยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีจึงมีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ถอนการบังคับคดี การเพิกถอนการขายทอดตลาดมีผลเพียงเท่ากับยังมิได้ขายทอดตลาด ต่อไปภายหน้าหากเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินยุติลงก็อาจนำออกขายทอดตลาดใหม่ได้ ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1543 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด กับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข.) เลขที่ 1178 ที่ออกให้แก่นายอุดมเข้าทำประโยชน์นั้น ฉบับใดจะออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องว่ากล่าวกันต่อไปต่างหาก หลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว และข้อเท็จจริงได้ความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดชี้ตำแหน่งที่ดินในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ตามบันทึกถ้อยคำเรื่องการขอความอนุเคราะห์ชี้ตำแหน่งที่ดิน ถือได้ว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลเหตุแห่งข้ออ้างชัดเจนในวันดังกล่าว การที่ผู้ซื้อทรัพย์มายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 12 มีนาคม 2556 จึงไม่ช้ากว่า 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยให้ เพราะไม่ทำให้คดีมีผลเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share