คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายมีบาดแผลหลังศีรษะ 2 แผล เป็นแผลยาว 5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร และแผลยาว 3 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร แผลที่หน้าอกซ้ายยาว 6 เซนติเมตรไม่ลึก แผลฉีกขาดที่หน้าผากด้านซ้ายยาว 4 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตรใช้เวลารักษาบาดแผลไม่เกิน 14 วัน รอยแผลที่ศีรษะ 2 แผลไม่ใช่แผลฉกรรจ์ ส่วนแผลที่อื่นเกิดจากการปล้ำกัน ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายหันหลังให้จำเลย ถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จำเลยมีโอกาสใช้กำลังแรงเข้าโถมฟันผู้เสียหายได้ บาดแผลน่าจะฉกรรจ์มากกว่านี้ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘,๘๐, ๙๒ ริบของกลาง เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๘๘, ๘๐ ลงโทษจำคุก ๑๒ ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ หนึ่งในสาม ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ โดยที่ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด เห็นสมควรไม่เพิ่มไม่ลดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๔ คงจำคุก ๑๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายนั้น นายแพทย์ไกรสร พยานโจทก์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายได้ทำรายงานตามเอกสารหมาย จ.๘ ว่ามีบาดแผลถูกฟันที่ศรีษะและหน้า เป็นบาดแผลถูกของมีคมขอบเรียบหลังศีรษะ ๒ แผล เป็นแผลยาว ๕ ซม. ลึก ๒ ซม. และแผลยาว ๓ ซม.ลึก ๐.๕ ซม. แผลที่หน้าอกซ้ายยาว ๖ ซม. ไม่ลึกแผลฉีกขาดที่หน้าผากด้านซ้ายยาว ๔ ซม.กว้าง ๑ ซม. ผู้ป่วยรู้เรื่องดีใช้เวลารักษาบาดแผลไม่เกิน ๑๔ วัน และเบิกความว่า กระโหลกศีรษะผู้เสียหายไม่แตก ส่วนความลึกบาดแผลตามรายงานนั้นคาดคะเนเอา หากได้รับการรักษาไม่ทันแล้วอาจถึงแก่ความตายบริเวณศีรษะตั้งแต่หนังศีรษะถึงกระโหลกศีรษะห่างกันประมาณ ๑ ซม. แต่ในบางส่วน หากมีกล้ามเนื้ออยู่มาก ก็อาจห่างถึง ๒ เซนติเมตร เมื่อได้พิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ตอนก่อนเกิดเหตุประกอบลักษณะของมีดที่จำเลยใช้ฟันและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับแล้ว ยังฟังไม่ถนัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แม้มีรอยแผลที่ศีรษะ ๒ แผล ก็ไม่ใช่แผลฉกรรจ์ ส่วนแผลที่อื่นนอกจากบนศีรษะน่าเชื่อว่าเกิดจากการปล้ำกัน โดยจำเลยเบิกความว่า จำเลยจับมือของผู้เสียหายทั้งที่ถือปืน ผู้เสียหายจับมือจำเลยทั้งที่ถือมีด นายสมจิตร พรมสังข์ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนความข้อนี้ ถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย บาดแผลน่าจะฉกรรจ์มากกว่านี้ เพราะขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายหันหลังให้จำเลย จำเลยมีโอกาสที่ใช้กำลังแรงเข้าโถมฟันผู้เสียหายได้ ที่จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนว่าพยายามฆ่าผู้เสียหายนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากทางพิจารณาขัดกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย คดีก็ต้องรับฟังตามที่ได้ความในทางพิจารณา สรุปแล้วพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มั่นคงพอรับฟังลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย คงรับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน สำหรับคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยของโจทก์นั้น ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๓๐ ใช้บังคับ มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติว่า ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ และได้พ้นโทษไปแล้วก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ปรากฏว่าควมผิดฐษนมีเฮโรอีนที่โจทก์ถือเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษนั้น จำเลยได้กระทำก่อนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ และให้พ้นโทษไปแล้วก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนี้จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี.

Share