คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำใดเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่มิได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนเป็นข้อสำคัญ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนโดยการแสดงข้อความเท็จว่าสามารถจัดส่งผู้ที่มาสมัครงานกับจำเลยและพวกให้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ ความจริงจำเลยกับพวกไม่สามารถดำเนินการตามที่โฆษณาไว้ เป็นเหตุให้นายสมจิตรกับพวกมาสมัครไปทำงานและเสียเงินค่าสมัครให้จำเลยคนละ 30,000 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 180,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งหกคน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา343, 83 จำคุก 1 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสามคงจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินให้ผู้เสียหาย157,200 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายในคดีนี้เป็นรายบุคคล ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น มิได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นเกณฑ์ แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนเป็นข้อสำคัญ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share