คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15462/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานไม่มีบทกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องกระทำ จึงเป็นอำนาจทางการบริหารจัดการของนายจ้างตามแต่ที่จะกำหนดหรือตามที่ได้ตกลงกันไว้ การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่พนักงานของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามนโยบายหรือแนวทางการพิจารณาปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานตามที่จำเลยประกาศไว้ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า พนักงานจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ส่วนพนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนงวดการจ่ายเงินเดือนในเดือนมีนาคม 2550 จำเลยจะไม่พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 การที่จำเลยไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้โจทก์จึงเป็นไปตามอำนาจทางการบริหารจัดการของจำเลยตามระเบียบโดยชอบแล้ว
โจทก์ใช้รถประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2554 อันเป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในรูปที่มิใช่ตัวเงินที่จำเลยจัดให้เฉพาะพนักงานระดับสูง แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษให้เปลี่ยนเป็นการรับเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท แทนรถประจำตำแหน่งก็ตาม ก็ยังคงเป็นสวัสดิการเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นตัวเงิน เงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถนั้นจึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ มิใช่ค่าจ้างที่จะต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย
จำเลยประกอบกิจการธนาคาร เดิมใช้ชื่อว่าธนาคาร ส. ส่วนโจทก์เคยเป็นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. ซึ่งธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องรวมกิจการกันตามประกาศกระทรวงการคลัง จำเลยกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงานกับโจทก์ว่า จำเลยจะจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานของจำเลย (ขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่าธนาคาร ส.) ยกเว้นสวัสดิการว่าด้วยเงินบำเหน็จ จึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องการสงวนสิทธิที่จะจัดสวัสดิการเงินบำเหน็จไว้ให้แก่พนักงานที่ร่วมทำงานกับจำเลยมาตั้งแต่แรกไม่รวมถึงโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานใหม่ที่เข้ามาภายหลังรวมกิจการ ทั้งเงินบำเหน็จดังกล่าวไม่ถือเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีต่อนายจ้างเดิมที่จะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จตามฟ้องแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2512 ถึงเดือนกรกฎาคม 2542 กระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจำเลยกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด ผลจากการรวมกิจการทำให้จำเลยรับไปซึ่งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิและหน้าที่ รวมทั้งส่วนของพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด ด้วย จากนั้นโจทก์แสดงความประสงค์ขอเป็นพนักงานและจำเลยรับโจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย เริ่มทำงานวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 โดยนับอายุงานต่อเนื่อง ได้รับเงินเดือนเดือนละ 46,000 บาท เงินค่าครองชีพ 1,700 บาท และค่าตำแหน่งงาน 7,150 บาท รวมเป็นค่าจ้างจำนวน 54,850 บาท ตามระเบียบงานที่ 76/2547 โจทก์มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่ง หากไม่ประสงค์จะรับรถประจำตำแหน่งจำเลยจะจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่ารถ ค่าน้ำมันรถและค่าพนักงานขับรถ (ถ้ามี) ทั้งนี้เงินดังกล่าวจะไม่นำไปรวมกับเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณผลประโยชน์อื่นใด ยกเว้นการเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยและกรณีเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ สิทธิในการปรับเพิ่มเงินเดือนและได้รับเงินโบนัส จำเลยออกประกาศระเบียบงานที่ 14/2549 เกี่ยวกับรถประจำตำแหน่งหรือเงินช่วยเหลือค่ารถโดยให้ถือเงินช่วยเหลือค่ารถเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้แต่จะไม่นำไปรวมกับเงินเดือนเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณผลประโยชน์อื่น โจทก์ขอและได้รับความยินยอมในการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับรถประจำตำแหน่งเป็นรับเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 53,000 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2550 โจทก์เกษียณอายุ ในตำแหน่งหัวหน้าทีมบริหารสินทรัพย์รอการขาย มีรายได้สุดท้ายเป็นเงินเดือน 95,480 บาท เงินช่วยเหลือค่ารถ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถ 3,000 บาท จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 957,982.67 บาท แก่โจทก์ อันเป็นการปฏิบัติผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ปรับเงินเดือน ในปี 2550 ให้โจทก์อัตราร้อยละ 6.5 ของเงินเดือน ทำให้โจทก์ขาดรายได้ที่จำเลยต้องจ่ายอีกเดือนละ 6,202 บาท ขอคิดเพียง 6,200 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 11 วัน เป็นเงิน 14,673.33 บาท และต้องนำรายได้ที่ขาดกับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถไปรวมเป็นรายได้เดือนสุดท้ายเพื่อคำนวณค่าชดเชย จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยที่ยังขาดเป็นเงิน 592,000 บาท และต้องจ่ายเงินบำเหน็จหรือบำนาญตามระเบียบเกี่ยวกับบำเหน็จพนักงานสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด เป็นเงิน 4,753,540 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ 5,360,213.33 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ต้องชำระแก่โจทก์คือวันที่ 12 มีนาคม 2550 (วันที่โจทก์เกษียณ) จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 509,954.54 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 5,870,167.87 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เดิมใช้ชื่อว่าธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2541 กระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีก 12 บริษัท ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) โจทก์แจ้งความประสงค์ขอเข้าทำงานกับจำเลยและจำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย เริ่มทำงานวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 54,850 บาท โจทก์มีสิทธิได้ใช้รถประจำตำแหน่ง ต่อมาจำเลยอนุมัติให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้รถประจำตำแหน่งมาเป็นรับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถรวมเป็นเงินเดือนละ 53,000 บาท ระเบียบงานที่ 76/2547 ถูกยกเลิกโดยระเบียบงานที่ 14/2549 ในเดือนมีนาคม 2550 โจทก์เกษียณอายุโดยได้รับค่าชดเชย 954,800 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 3,182.67 บาท แล้ววินิจฉัยว่า นับแต่ปี 2544 โจทก์ใช้รถประจำตำแหน่งมาโดยตลอด อันเป็นสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เป็นสวัสดิการ ที่จำเลยจัดให้แก่พนักงาน แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ของโจทก์จากการใช้รถประจำตำแหน่งไปเป็นการรับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถรวมเดือนละ 53,000 บาท แต่ก็เป็นเงินสวัสดิการเพื่อทดแทนการใช้รถยนต์ทำงานให้แก่นายจ้าง ไม่ใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง จึงไม่เป็นค่าจ้างที่จะต้องนำไปรวมคำนวณค่าชดเชย ส่วนเงินบำเหน็จ เมื่อโจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 จึงมีระยะเวลาทำงานไม่ครบ 10 ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบเกี่ยวกับบำเหน็จพนักงานสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด ทั้งเงื่อนไขประกอบการเสนอจ้างงานสำหรับพนักงานระดับต่ำกว่าระดับฝ่าย ข้อ 1.10 ก็ได้กำหนดไว้แล้วว่า ยกเว้นไม่นำสวัสดิการว่าด้วยเงินบำนาญที่จัดให้แก่พนักงานของธนาคารสหธนาคาร (เดิม) มาจัดเป็นสวัสดิการให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงาน เป็นสิทธิของจำเลยตามนโยบายหรือแนวทางที่จำเลยประกาศให้ทราบ โจทก์เกษียณอายุก่อนงวดการจ่ายเงินเดือนในเดือนมีนาคม 2550 โจทก์ย่อมไม่ได้รับการพิจารณาปรับเงินเดือนประจำปี 2550 จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องปรับขึ้นเงินเดือนในปี 2550 ให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานนั้น ไม่มีบทกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องกระทำ จึงเป็นอำนาจทางการบริหารจัดการของนายจ้างตามแต่ที่จะกำหนดหรือตามที่ได้ตกลงกับลูกจ้างหรือพนักงานไว้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะให้รับฟังได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่พนักงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งข้อเท็จจริงได้ความตามศาลแรงงานกลางว่า การปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานเป็นสิทธิเฉพาะของจำเลย และเป็นไปตามนโยบายหรือแนวทาง การพิจารณาปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานตามที่จำเลยประกาศไว้ ข้อ 2.7.5 ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่า พนักงานจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยพนักงานจะรู้ว่าได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประมาณวันที่ 15 มีนาคม ส่วนพนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนงวดการจ่ายเงินเดือนในเดือนมีนาคม 2550 จำเลยจะไม่พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ ดังนั้นเมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน เนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 การที่จำเลยไม่ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2550 ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นไปตามอำนาจทางการบริหารจัดการของจำเลยตามระเบียบโดยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของโจทก์ว่า การคำนวณค่าชดเชยให้โจทก์โดยไม่นำ เอาเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท มารวมเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ใช้รถประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2544 นั้น เป็นสิทธิประโยชน์และเป็นสวัสดิการในรูปแบบที่มิใช่ตัวเงินที่จำเลยจัดให้เฉพาะพนักงานระดับสูง แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติจากจำเลยเป็นกรณีพิเศษ ให้เปลี่ยนเป็นการรับเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท แทนก็ตามก็ยังถือว่าเป็นสวัสดิการอยู่นั่นเองเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นเงินแทน เงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถ จึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ มิใช่เป็นค่าตอบแทนในการทำงานโดยตรงไม่ถือเป็นค่าจ้าง และเมื่อได้ความจากโจทก์เองว่า โจทก์ขอและจำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถแทนการใช้รถประจำตำแหน่ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2548 หลังจากจำเลยออกระเบียบงานที่ 14/2549 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 โดยข้อ 2.7 กำหนดไม่ให้นำเงินช่วยเหลือค่ารถไปรวมกับเงินเดือนเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณผลประโยชน์อื่นใด อันรวมถึงค่าชดเชยด้วย นั้น เมื่อโจทก์เองเป็นถึงรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย จบการศึกษานิติศาสตร์ย่อมทำความเข้าใจระเบียบที่จำเลยประกาศใช้ได้เป็นอย่างดี การที่จำเลยประกาศใช้ระเบียบงานที่ 14/2549 มาตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 โดยโจทก์ก็มาขอรับสิทธิประโยชน์จากระเบียบงานดังกล่าว ทั้งระเบียบงานที่ 76/2547 ที่โจทก์นำมาอ้างเพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่ตน ก็กำหนดให้มีผลใช้บังคับเพียงถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางไม่นำเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถมารวมเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารและเคยใช้ชื่อว่า ธนาคารสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์เคยเป็นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่จะต้องรวมกิจการ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคารจำกัด (มหาชน) กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น จำเลยกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงานไว้กับโจทก์ ข้อ 1.10 ว่าจำเลยจะจัดสวัสดิการให้โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยสวัสดิการที่จำเลยจัดให้กับพนักงานของจำเลยซึ่งขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่า ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ยกเว้นสวัสดิการว่าด้วยเงินบำเหน็จนั้น แสดงว่ากรณีเงินบำเหน็จที่จัดไว้สำหรับพนักงานของธนาคารสหธนาคาร (จำกัด) มหาชน ที่ทำงานมาก่อน ที่จะมีการรวมกิจการ เป็นสวัสดิการที่มีมาก่อนแล้วและจำเลยยังคงที่จะสงวนสิทธิไว้ให้แก่พนักงาน ที่ร่วมทำงานกับจำเลยมาแต่แรก ไม่รวมถึงโจทก์ที่เป็นพนักงานใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ามาหลังมีการรวมกิจการ ทั้งไม่ถือเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีต่อนายจ้างเดิมที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ตามความหมายในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้นที่จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน

Share