แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (2) บัญญัติให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อผู้นั้นเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ตามมาตรา 92 บัญญัติให้การสิ้นสุดสมาชิกภาพดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแล้วแต่กรณี คดีนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าว ประกอบกับในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำเลยทั้งเจ็ดยังคงทำหน้าที่มิได้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่ต้องคืนเงินที่รับไประหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 923,271.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 849,155.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในยอดเงินดังกล่าว 105,922.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 97,419.35 บาท และให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในยอดเงินดังกล่าวคนละ 52,961.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 48,709.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หลังการเลือกตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองว่า จำเลยที่ 1 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครปฐม มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น จำเลยที่ 1 รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มจากโจทก์เดือนละ 104,330 บาท ระหว่างการดำรงตำแหน่งจำเลยที่ 1 แจ้งความประสงค์ขอให้โจทก์ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากโจทก์เดือนละ 20,000 บาท และตั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเดือนละ 10,000 บาท โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 และจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดตามสิทธิเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 และต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2553 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ระงับการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งระงับการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและเงินตอบแทนผู้ดำเนินงานให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มไปจากโจทก์ 508,088.06 บาท จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญไปจากโจทก์ 97,419.35 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ได้รับเงินค่าตอบแทนผู้ดำเนินงานไปจากโจทก์คนละ 48,709.69 บาท ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ ต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 มีผลให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 106 (1) การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งเจ็ดต้องคืนเงินที่รับไปและจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 คืนเงินที่รับไประหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นโดยอ้างว่า สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 92 บัญญัติว่า “การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนหนึ่งคนใดสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วแต่กรณี…” ตามบทบัญญัติดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแล้วแต่กรณี โดยกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดสิ้นสุดลงหรือไม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้นยังคงมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจนถึงวันที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (2) บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อผู้นั้นเป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม แต่คดีนี้ปรากฏตามสำนาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ อันเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 91 ดังนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าวและประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 จึงจะไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นอีกต่อไป เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าว ประกอบกับได้ความว่า ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำเลยทั้งเจ็ดยังคงทำหน้าที่มิได้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่ต้องคืนเงินที่รับไประหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ