คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6574/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองแนบประกาศกระทรวงมหาดไทยเป็นเอกสารท้ายอุทธรณ์ โดยไม่ได้มีการนำสืบในศาลชั้นต้น คำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่ได้รับรองความถูกต้องของข้อเท็จจริงตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ จึงรับฟังเอกสารท้ายอุทธรณ์ไม่ได้ คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนที่จะรับฟังว่า ที่ดินจำนองต้องอยู่นอกเขตศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งสามเสร็จ แม้หากจะฟังว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ แล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ไม่อาจยกเอาข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นขึ้นกล่าวอ้างได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 42,922,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 35,400,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 5,698,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,700,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 48,621,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 40,100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสามจนครบ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 35,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556) ต้องไม่เกิน 7,522,500 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสามขอมา หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 95921, 95922, 95923, 95924, 232293, 237758 และ 238656 ตำบลคลองประเวศฝั่งเหนือ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 4,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 998,750 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสามขอมา หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 95925 และ 95926 ตำบลคลองประเวศฝั่งเหนือ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 917 ตำบลสะพานสูง อำเภอสะพานสูง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสาม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่ที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่ง สำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่ที่แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตศาลจังหวัดมีนบุรี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนองที่ดิน 7 แปลง ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ทั้งสาม สัญญาจำนองระบุว่าเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 35,400,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่ดิน 3 แปลง ตามฟ้องของจำเลยที่ 2 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยที่ดินรวม 10 แปลง ดังกล่าวมีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกันตามสำเนาโฉนดที่ดิน สัญญาจำนองระบุว่าเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 4,700,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สัญญาจำนองทั้งสองฉบับดังกล่าวมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อความเหมือนกันใจความว่า ผู้จำนองทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามเลขเครื่องหมายที่ดินในสัญญาจำนอง ได้ตกลงจำนองที่ดินกับบรรดาตึกโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในที่ดินรายนี้หรือซึ่งจะได้ปลูกสร้างขึ้นใหม่ในภายหน้าในที่ดินรายนี้ทั้งสิ้น ไว้แก่ผู้รับจำนองเป็นประกันเงินซึ่งผู้จำนองทั้งสองเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่แล้วในเรื่องการการกู้เงินที่เป็นหนี้แก่ผู้รับจำนองทั้งหมด ซึ่งรวมเป็นวงเงิน 40,100,000 บาท ซึ่งทรัพย์ที่ผู้จำนองทั้งสองจำนองไว้แก่ผู้รับจำนองนั้นเป็นทรัพย์ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ ดังนั้น เมื่อครบกำหนดในการไถ่ถอนจำนอง ผู้จำนองทั้งสองจะต้องไถ่ถอนจำนองพร้อมกัน ไม่สามารถจะแยกไถ่ถอนจำนองเฉพาะส่วนได้โดยทำหนังสือสัญญาจำนองและจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมเจ็ดโฉนดและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสามโฉนดและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ทั้งสามแล้ว อย่างน้อย 26,400,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากโจทก์ทั้งสามแล้วอย่างน้อย 3,520,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินแก่โจทก์ทั้งสาม ครบกำหนด 1 ปีแล้วก็ไม่ไถ่ถอนจำนอง โจทก์ทั้งสามบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว ก็ยังเพิกเฉย เนื่องจากตามโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งเจ็ดแปลงระบุว่าตั้งอยู่ที่ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ส่วนของจำเลยที่ 2 สำหรับโฉนดเลขที่ 95925 และ 95926 เดิมก็ระบุว่าตั้งอยู่ที่ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง ต่อมามีการแก้ไขเป็นว่าตำบลสะพานสูง อำเภอสะพานสูง โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดพระโขนง) ฟ้องเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ศาลชั้นต้นรับฟ้องในวันเดียวกัน รับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก โดยพิจารณาอย่างคดีมโนสาเร่ นัดพิจารณาเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและสืบพยาน จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การดังกล่าวข้างต้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 โดยไม่ได้ให้การว่าโจทก์ทั้งสามฟ้องนอกเขตศาลที่รับฟ้อง คือไม่ได้ให้การว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ ครั้นถึงวันนัดพิจารณาเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและสืบพยานวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทนายโจทก์ทั้งสามและทนายจำเลยทั้งสองมาศาล คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่ายังไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ ศาลชั้นต้นให้นัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสอง ทนายโจทก์ทั้งสามแถลงจะสืบพยานโจทก์ทั้งสาม 2 ปาก ใช้เวลาครึ่งนัดทนายจำเลยทั้งสองแถลงจะสืบพยานจำเลยทั้งสอง 4 ปาก ใช้เวลา 1 นัด ศูนย์นัดความของศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองในวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ทั้งวันและนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองอีกในวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ช่วงเช้าเป็นเวลาครึ่งวัน ครั้นถึงวันนัดวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทนายโจทก์ทั้งสามและทนายจำเลยทั้งสองมาศาล ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคดีผู้บริโภคก็ต้องฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล และต้องฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งเป็นศาลที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ขอให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ไม่ได้อ้างว่าเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ต้องฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาลแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่เป็นคดีผู้บริโภค ศาลชั้นต้นอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์ทั้งสามและทนายจำเลยทั้งสองฟังเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ทนายโจทก์ทั้งสามขอสืบพยาน 2 ปาก ใช้เวลา 1 นัด ทนายจำเลยทั้งสองขอสืบพยาน 4 ปาก ใช้เวลา 1 นัด ศูนย์นัดความของศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามวันที่ 23 กันยายน 2557 นัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง วันที่ 24 กันยายน 2557 ทนายความทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อทราบนัดไว้แล้ว ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสาม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และทนายโจทก์ทั้งสามมาศาล จำเลยทั้งสองไม่มา ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งสาม 1 ปาก แล้วทนายโจทก์ทั้งสามแถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาให้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 24 กันยายน 2557 ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่ามีการจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ที่ดินที่โจทก์ทั้งสามฟ้องบังคับจำนองไม่ได้อยู่ในเขตศาลชั้นต้น มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดมีนบุรี ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้อยู่ในเขตศาลชั้นต้น ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเรื่องเขตศาล และขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ได้ทำไปในศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีไม่อยู่ในเขตศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นรอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษา ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาเรื่องเขตศาลว่า เนื่องจากที่ดินของจำเลยทั้งสองที่นำมาจำนองมีสิ่งปลูกสร้างคร่อมอยู่ หนี้ตามสัญญาจำนองทั้งสองฉบับจึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ และแม้ปรากฏจากโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองว่าที่ดินของจำเลยที่ 2 บางแปลงที่นำมาจำนองมีที่ตั้งอยู่นอกเขตศาลชั้นต้นก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองพร้อมแปลงอื่นที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นได้ และวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องเขตศาล จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน 2542 เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสำนักงานที่ดินสาขา ให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม มีเขตดำเนินการในพื้นที่เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง และตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลจังหวัดมีนบุรี พ.ศ.2534 ให้ศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งมีเขตอำนาจตลอดท้องที่เขตมีนบุรี เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง ในกรุงเทพมหานคร มีเขตอำนาจในแขวงท่าแร้ง แขวงสายไหม แขวงออเงิน เขตบางเขน แขวงคันนายาว แขวงสะพานสูง เขตบึงกุ่ม และแขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว ในกรุงเทพมหานคร ด้วย กับตามพระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงดุสิต ศาลแขวงตลิ่งชัน ศาลแขวงปทุมวัน และศาลแขวงพระโขนง เป็นศาลจังหวัด พ.ศ.2549 ให้ศาลจังหวัดพระโขนง (ศาลชั้นต้นคดีนี้) มีเขตตลอดท้องที่เขตคลองเตย เขตบางนา เขตประเวศ เขตวัฒนา เขตพระโขนง และเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จึงเห็นได้ว่าเขตบึงกุ่มอยู่ในเขตศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ ทั้งไม่มีที่ดินแปลงใดอยู่ในเขตท้องที่เขตประเวศและเขตพระโขนงที่จะทำให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องได้ ส่วนตามโฉนดที่ดินที่ระบุตำแหน่งที่ดินว่า ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นเพียงการระบุตำแหน่งที่ตั้งที่ดินก่อนประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาเรื่องเขตศาลว่า ตามฟ้องปรากฏว่าที่ดินส่วนใหญ่รวม 9 แปลงตั้งอยู่ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร อันอยู่ในเขตศาลชั้นต้น คำฟ้องบังคับจำนองที่ดินเช่นนี้ย่อมเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะต้องมีการบังคับคดีแก่ตัวทรัพย์นั้น โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ทวิ พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดพระโขนง) หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าที่ดินที่จำนองตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดมีนบุรี โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลเช่นเดียวกันกับอุทธรณ์ เห็นว่า ตามโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งเจ็ดแปลง ระบุว่าตั้งอยู่ที่ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ส่วนของจำเลยที่ 2 สำหรับโฉนดเลขที่ 95925 และ 95926 เดิมก็ระบุว่าตั้งอยู่ที่ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง ต่อมามีการแก้ไขเป็นว่าตำบลสะพานสูง อำเภอสะพานสูง ซึ่งกรณีที่ที่ดินตั้งอยู่ในอำเภอพระโขนงหรือเขตพระโขนงก็อยู่ในเขตศาลชั้นต้น แต่ถ้าอยู่ในตำบลสะพานสูงหรือแขวงสะพานสูง เขตบึงกุ่ม ก็อยู่ในเขตศาลจังหวัดมีนบุรี จำเลยทั้งสองถือเอาการที่จดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ว่าที่ดินทุกแปลงย่อมตั้งอยู่ในตำบลสะพานสูงหรือแขวงสะพานสูงโดยอ้างประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวซึ่งจำเลยทั้งสองแนบมาท้ายอุทธรณ์เป็นเอกสารท้ายอุทธรณ์ อันเป็นการยกเอาข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้าง โดยที่จำเลยทั้งสองไม่ได้กล่าวอ้างถึงประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาแต่อย่างใด ในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงของศาลที่จะต้องกระทำโดยพยานหลักฐาน พยานหลักฐานที่จะให้รับฟังต้องเป็นพยานหลักฐานในสำนวน คือได้มีการนำสืบพยานหลักฐานนั้นอย่างถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ตั้งแต่ในการพิจารณาของศาลชั้นต้น เอกสารท้ายอุทธรณ์ไม่ได้มีการนำสืบในการพิจารณาของศาลชั้นต้น และตามคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับรองความถูกต้องของข้อเท็จจริงตามเอกสารท้ายอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงรับฟังเอกสารท้ายอุทธรณ์ไม่ได้ คดีนี้จึงไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนที่จะให้รับฟังว่าที่ดินจำนองตั้งอยู่นอกเขตศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตามคดีนี้เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นรับฟ้อง จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ก็ให้การรับว่าได้รับเงินไปจากโจทก์ทั้งสามจริง เพียงแต่อ้างว่าได้รับไปน้อยกว่าจำนวนที่ฟ้อง ไม่ได้ให้การโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจรับฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าคดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค ก็ไม่ได้อ้างว่าเป็นคำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต้องฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาลแต่อย่างใด ครั้นเมื่อประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีนี้ไม่เป็นคดีผู้บริโภค จำเลยทั้งสองก็ยอมดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งสามเสร็จ จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจรับฟ้องดังกล่าวไว้ในข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นข้างต้น พฤติกรรมของจำเลยทั้งสองเช่นนี้ แม้หากจะฟังว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานโจทก์ทั้งสามเสร็จเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ก็รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกเอาข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นขึ้นกล่าวอ้างได้อีก ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต่างคนต่างกู้โจทก์ทั้งสามต่างคนต่างเป็นหนี้ ต่างคนต่างค้างชำระ มิได้เป็นหนี้ร่วมกัน ชอบที่โจทก์ทั้งสามจะฟ้องเข้ามาคนละคดี มิใช่ฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียว และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า ผู้จำนองทั้งสองตกลงจำนองเป็นประกันเงินซึ่งผู้จำนองทั้งสองเป็นหนี้ผู้รับจำนองรวมเป็นเงิน 40,100,000 บาท ซึ่งทรัพย์ที่ผู้จำนองทั้งสองจำนองเป็นทรัพย์ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้การไถ่ถอนจะต้องไถ่ถอนพร้อมกัน ไม่สามารถจะแยกไถ่ถอนจำนองเฉพาะส่วนได้ เป็นโมฆะเพราะไม่มีจำนวนเงินระบุไว้เป็นเรือนเงินไทยเป็นจำนวนแน่ตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองตราไว้เป็นประกัน ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความมาแล้วว่าที่ดินจำนองทั้งสิบแปลงมีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน และได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ด้วยว่า เหตุที่มีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าวก็เนื่องจากขณะจำนองมีสิ่งปลูกสร้างคร่อมอยู่บนที่ดินของจำเลยทั้งสองจึงมีเหตุผลให้รับฟังว่าตกลงกันตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าวได้ ไม่เป็นโมฆะและโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสองรวมกันมาเป็นคดีเดียวได้ ไม่จำต้องฟ้องเข้ามาคนละคดีแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share