แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงในระหว่างพักงานแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง อีกทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลย คงโต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์ เนื่องด้วยกรณีของคดีนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยก่อนจึงจะนำคดีมาสู่ศาลได้ ขั้นตอนอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยเป็นเพียงระเบียบบริหารงานภายในย่อมไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุตัดสิทธิในการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ แต่เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ลงโทษโจทก์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 16/2548 และให้จำเลยคืนเงินเดือน 2,361 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับค่าเบี้ยเลี้ยง 1,300 บาท และค่าจ้างระหว่างพักงาน 7,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 16/2548 โดยให้จำเลยออกคำสั่งลงโทษใหม่ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถ จำเลยพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2548 ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2548 จำเลยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 46 ว่าด้วยวินัยการสอบสวน การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน พ.ศ.2524 ออกคำสั่งที่ 16/2548 ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ 10 เปอร์เซ็นต์ มีกำหนด 3 เดือน ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 46
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คดีมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ 16/2548 ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 16/2548 โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าจ้างในระหว่างพักงานแก่โจทก์ และมีคำสั่งที่ 16/2548 ลงโทษทางวินัยด้วยการตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละสิบ มีกำหนด 3 เดือน โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์เป็นพนักงานเงินเดือนระบบใหม่ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยขยัน คำสั่งพักงานและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์เป็นไปโดยชอบแล้ว โจทก์ทำผิดข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 46 (พ.ศ.2524) ข้อ 43 จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโทษทางวินัยและพักงานโจทก์ผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดข้อบังคับจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างระหว่างพักงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลย คดีนี้จึงมีประเด็นแห่งคดีเพียงว่า ระหว่างพักงานเพื่อสอบสวนจำเลยมีสิทธิไม่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าจ้างแก่โจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ เพียงใด และโจทก์กระทำความผิดอันเป็นเหตุให้จำเลยลงโทษโจทก์ตามคำสั่งที่ 16/2548 ได้หรือไม่ เท่านั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง อีกทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลย คงโต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยยกเหตุที่โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามระเบียบของจำเลยก่อน จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และจำเลยไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์การอุทธรณ์แจ้งให้โจทก์ทราบไว้ในคำสั่งที่ 16/2548 แล้วให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 16/2548 โดยให้จำเลยกำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ให้ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิดังกล่าวนั้น จึงไม่ถูกต้อง เนื่องด้วยกรณีของคดีนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยก่อนจึงจะนำคดีมาสู่ศาลได้ ขั้นตอนอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยเป็นเพียงระเบียบบริหารงานภายในย่อมไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุตัดสิทธิในการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ แต่เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ลงโทษโจทก์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี