แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมทแอมเฟตามีน 2 ถุง จำนวน 4,000 เม็ด ฝังดินอยู่ข้างบ่อน้ำในบริเวณรั้วบ้านของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ชี้จุดที่ซุกซ่อน เมทแอมเฟตามีนให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไว้ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสนอให้เงินเจ้าพนักงานตำรวจ 200,000 บาท เพื่อไม่ให้ดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภริยาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน แสดงพฤติการณ์ว่าต่างยอมรับการกระทำของแต่ละฝ่ายเป็นการกระทำของตน จึงเป็นตัวการกระทำความผิดด้วยกันในการสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66,100, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144, 371, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และของกลางอื่นทั้งหมด กับระวางโทษจำเลยที่ 2เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 25 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 100 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144, 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐร่วมมือสนับสนุนการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ จำคุก 2 ปี แต่เมื่อลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิตฐานเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐร่วมมือสนับสนุนการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 แล้ว ไม่อาจนำโทษจำคุกฐานร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานมารวมได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) (ที่ถูกและไม่อาจระวางโทษจำเลยที่ 2 เป็นสามเท่าในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 อีกด้วย) รวมโทษทุกกระทงคงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144, 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ จำคุก 2 ปีฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเฉพาะฐานนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 3 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 35 ปี 7 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และโทรศัพท์มือถือของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้เสนอให้เงินจำนวน 200,000 บาท แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจไม่ให้จับกุมดำเนินคดีนี้ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจเชื่อหรือรับฟัง ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เสนอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน โดยจำเลยที่ 3 ถูกเจ้าพนักงานผู้จับกุมหลอกให้นำเงินมาให้เพื่อสร้างพยานหลักฐานมัดจำเลยนั้น เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มาด้วยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีอุกฤษ ภู่กลั่น และร้อยตำรวจเอกสนธยา แต่แดงเพชร เบิกความว่า ก่อนเข้าจับกุมจำเลยทั้งสาม พันตำรวจตรีอุกฤษสืบสวนทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้าเมทแอมเฟตามีนรายใหญ่ จึงให้สายลับติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 เม็ด ราคา 375,000 บาท นัดหมายส่งมอบของกันที่บ้านเช่า หมู่ที่ 4 ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 เช่ามาจากจำเลยที่ 2 ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 เมื่อถึงวันนัดเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ตามแผนล่อซื้อ จำเลยที่ 1 ให้การว่าเพิ่งนำเมทแอมเฟตามีนมาจากบ้านจำเลยที่ 2 และยังคงมีเมทแอมเฟตามีนอีก 2 มัด ฝังดินอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินค่าฝากเมทแอมเฟตามีนแก่จำเลยที่ 2 ในราคามัดละ 3,000 บาท เจ้าพนักงานตำรวจจึงไปที่บ้านจำเลยที่ 2 และรออยู่จนกระทั่งจำเลยที่ 2 กลับมาพร้อมกับจำเลยที่ 3 จึงได้ตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 พบเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ฝังดินอยู่ข้างบ่อน้ำในบริเวณรั้วบ้าน เห็นว่า ตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.6 แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะให้การปฏิเสธ แต่ก็ยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางลำดับที่ 2 จำนวน 4,000 เม็ด เจ้าพนักงานตรวจค้นพบที่บริเวณริมบ่อน้ำภายในบริเวณบ้านของตนจริง และตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.3 จุดที่จำเลยที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นพบของกลางดังกล่าวก็อยู่ในเขตบ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ภายในแนวรั้วคอนกรีต และตามภาพถ่ายหมาย จ.2 ภาพที่ 16 ถึง 19 ก็เป็นตามที่จำเลยที่ 2 ชี้จุดที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนจุดแรกและจุดที่สองให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปไว้ ซึ่งเป็นภาพภายในบริเวณรั้วคอนกรีตตรงกับคำเบิกความของพยานโจทก์ ซึ่งบุคคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าออกได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง จำนวน 4,000 เม็ด ฝังดินอยู่ข้างบ่อน้ำในบริเวณรั้วบ้านของจำเลยที่ 2 และข้อเท็จจริงฟังได้ยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เสนอให้เงินเจ้าพนักงานตำรวจ 200,000 บาท เพื่อไม่ให้ดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภริยาอาศัยอยู่บ้านเดียวกันเช่นนี้ แสดงพฤติการณ์ว่าต่างยอมรับการกระทำของแต่ละฝ่ายเป็นการกระทำของตนจึงเป็นตัวการกระทำความผิดด้วยกัน ในการสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอที่รับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน