แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น คู่ความอาจมีคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วได้ ประกอบกับคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้นมีผู้พิพากษาสมทบซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะได้ทำความเห็นแย้งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของผู้ร้อง ซึ่งความเห็นแย้งที่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558 โดยไม่ว่าจะพิจารณาจากความหมายในข้อความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตราต่าง ๆ หรือความสอดคล้องของบทกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวกับอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์กตามพันธกรณีที่ประเทศยอมรับ ล้วนแต่เป็นกรณีที่จะต้องถือว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ
ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศแต่อย่างใด การที่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว รวมตลอดถึงการมีคำสั่งและออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องล้วนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปราศจากอำนาจ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษายกคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลดังกล่าวทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทย ส่วนผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 อันเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ประมาณ 1 เดือน ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด (The International Cotton Association Limited) เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านในสัญญาซื้อขายสินค้า ที่ผู้คัดค้านขายฝ้ายดิบให้แก่ผู้ร้องรวม 4 ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 วันที่ 15 ตุลาคม 2553 วันที่ 19 กันยายน 2554 และวันที่ 21 มีนาคม 2554 และมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามสัญญาซื้อขายสินค้าทั้งสี่ฉบับข้างต้น รวมกับค่าใช้จ่ายในการทำคำชี้ขาดคิดคำนวณเป็นเงินไทยจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอนี้แล้วเป็นเงินจำนวน 77,104,919.50 บาท ผู้ร้องเห็นว่า ผู้ร้องไม่ทราบมาก่อนว่ามีการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เพราะไม่มีการแจ้งให้ผู้ร้องทราบล่วงหน้า ผู้ร้องจึงไม่ได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องและไม่ได้ต่อสู้คัดค้านในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ทั้งอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจทำคำชี้ขาด เนื่องจากสัญญาทั้งสี่ฉบับดังกล่าวขาดสิ่งตอบแทน (Consideration) และองค์ประกอบของการก่อให้เกิดสัญญาตามกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) เพราะผู้คัดค้านเรียกร้องค่าเสียหายโดยไม่ได้ขอให้ผู้ร้องรับมอบฝ้ายดิบ สัญญาจึงไม่มีผลผูกพัน และโดยเฉพาะฝ่ายผู้คัดค้านคดีนี้ซึ่งเป็นผู้ขายได้อาศัยช่วงสถานการณ์ที่ตลาดฝ้ายกำลังผันผวนหลอกลวงผู้ร้องโดยอ้างว่า ฝ้ายดิบจะขาดแคลนอย่างมากและมีราคาสูงมากเป็นเวลานาน หากผู้ร้องไม่สั่งซื้อฝ้ายดิบตุนเอาไว้ จะทำให้ผู้ร้องขาดแคลนฝ้ายดิบป้อนโรงงานผลิตและปั่นด้ายของผู้ร้องจนอาจต้องปิดโรงงาน ประกอบกับผู้คัดค้านได้เคยเลื่อนการส่งมอบฝ้ายดิบมาแล้วจนผู้ร้องหลงเชื่อว่าข้ออ้างดังกล่าวของผู้คัดค้านเป็นความจริงและยินยอมเข้าทำสัญญาซื้อขายฝ้ายดิบล่วงหน้าไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผู้ร้องไม่เคยตกลงซื้อฝ้ายดิบล่วงหน้าเป็นจำนวนมากกับผู้ขายรายใดมาก่อน ต่อมาภายหลังผู้ร้องได้ทราบความว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ผู้คัดค้านได้ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยความจริงแล้วตลาดฝ้ายดิบมีราคาผันผวนเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยมีสาเหตุจากการเก็งกำไรและอุทกภัยในบางท้องที่ซึ่งผลิตฝ้าย เมื่อพ้นสถานการณ์ดังกล่าวแล้วราคาฝ้ายดิบจะต่ำลงมาอยู่ในสภาวะปกติ ผู้คัดค้านอยู่ในวงการมานานกว่า 30 ปี และทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งผู้คัดค้านอาศัยความได้เปรียบในช่องทางการทำสัญญาสำเร็จรูปโดยอาศัยเงื่อนไขที่ผู้ร้องไม่เคยทราบมาก่อน เพราะไม่มีข้อความระบุไว้ในสัญญาที่มีการลงนามกันว่าผู้ขายสามารถเรียกค่าเสียหายจากส่วนต่างราคาฝ้ายตามสัญญากับราคาตลาดโดยที่ผู้ขายไม่ต้องส่งมอบฝ้ายแต่อย่างใด ทั้งไม่เคยทราบมาก่อนว่ากรณีมีปัญหาข้อพิพาทจะต้องเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัดเป็นผู้มีอำนาจทำคำชี้ขาด สัญญาที่ผู้คัดค้านอ้างตามคำชี้ขาดจึงไม่ได้เป็นไปตามเจตนาของผู้ร้อง อันเป็นช่องทางที่ผู้คัดค้านใช้เป็นช่องทางเอาเปรียบผู้ร้องโดยไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ร้องเพิ่งมาทราบในภายหลังตามคำชี้ขาดว่า ราคาฝ้ายที่กำหนดตามสัญญาที่ผู้ร้องต้องชำระมีราคาสูงอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับราคาตลาดฝ้ายในวันที่ถึงกำหนดส่งมอบหรือบรรทุกลงเรือซึ่งมีราคาต่ำลงอย่างมากทำให้ส่วนต่างราคาห่างกันมาก ตอนซื้อผู้คัดค้านกำหนดน้ำหนักฝ้ายเป็นหน่วยเมตริกตันหรือกิโลกรัม แต่ตอนคิดมูลค่าราคาฝ้ายส่วนต่างกลับคำนวณเป็นราคาต่อปอนด์ เมื่อเทียบกันแล้ว 1 กิโลกรัม จะเท่ากับ 2.2 ปอนด์ ผู้คัดค้านยิ่งได้เปรียบและคิดค่าเสียหายเป็นหลายเท่า ดังนั้นหากจะยึดหลักสัญญาต้องเป็นสัญญาเพื่อบังคับให้ผู้ซื้อต้องชำระค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าวดังที่อนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดย่อมจะไม่ยุติธรรมแก่ผู้ซื้ออย่างยิ่ง การทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่เป็นไปตามหลักสุจริตและยุติธรรมตามที่กำหนดไว้ในกฏข้อบังคับของสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมื่อสถานการณ์ตลาดฝ้ายผันผวนอย่างรุนแรงไม่เหมือนเดิมในขณะทำสัญญากับในขณะที่ถึงเวลาต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งผู้ร้องไม่อาจคาดเห็นได้จึงไม่ควรให้ใครได้รับประโยชน์จากความได้เปรียบจากสถานการณ์ดังกล่าวและไม่ควรให้สัญญามีผลบังคับดังกล่าว การชำระหนี้จึงตกเป็นอันพ้นวิสัย (ตามหลัก Frustrations) ย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่ให้ผู้ร้องต้องขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อรับมอบฝ้ายตามสัญญาเพราะจะยิ่งทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบผู้ร้องอย่างมาก หากให้ผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวจะทำให้ผู้ร้องต้องนำฝ้ายดิบในราคาแพงไปผลิตและปั่นด้ายมาขายในราคาถูกจนต้องขาดทุน นอกจากนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องต้องรับผิดในส่วนต่างระหว่างมูลค่าราคาตามสัญญาและมูลค่าราคาตลาดในวันที่ปิดสัญญานั้นไม่มีกำหนดไว้ในสัญญา ทั้งการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวก็เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และประเทศไทยไม่เคยให้สัตยาบันการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัดดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนี้มาบังคับได้ ขอให้พิพากษาหรือสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทระหว่างบริษัทโตโยชิมา แอนด์ โค จำกัด (TOYOSHIMA & CO LTD) และบริษัทชุมแสง เท็กซ์ไทล์ จำกัด ฉบับประทับตราสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ลงวันที่ 12 กันยายน 2555 ทั้งหมด ผู้คัดค้านไม่ยื่นคำคัดค้าน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ฉบับประทับตราสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ลงวันที่ 12 กันยายน 2555 ให้ผู้คัดค้านชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 อ้างว่า ผู้คัดค้านมิได้จงใจที่จะไม่ยื่นคำคัดค้านหรือไม่เข้ามาต่อสู้คดีนี้ แต่ผู้คัดค้านมิได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและไม่ทราบวันนัดพิจารณา หากได้รับหมายและทราบวันนัดพิจารณา ผู้คัดค้านจะเข้ามาต่อสู้คดีนี้เนื่องจากผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เป็นคดีหมายเลขดำที่ กค.280/2556 ของศาลดังกล่าว มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและสำเนาคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านต่อสู้คดีดังกล่าวแต่มิได้กล่าวอ้างในคำคัดค้านดังกล่าวเลยว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไว้แล้ว คดีที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งผู้ร้องยื่นคำคัดค้านไว้มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องพิจารณาเช่นเดียวกันกับคดีนี้ ในคดีที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องได้แสดงความประสงค์ให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันโดยศูนย์ไกล่เกลี่ย ระหว่างการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องไม่เคยแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไว้ และคดียังอยู่ระหว่างการไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้อง จนกระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ฉบับประทับตราสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ลงวันที่ 12 กันยายน 2555 ซึ่งคดีของผู้คัดค้านที่ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฉบับเดียวกันยังอยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย การกระทำของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านมีบริษัทโกลเด้น คอตตอน จำกัด เป็นตัวแทนในราชอาณาจักรสำหรับการประกอบกิจการขายฝ้ายดิบตามสัญญาที่ผู้คัดค้านทำกับผู้ร้อง ซึ่งมีการระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในสัญญาซื้อขายสินค้าฝ้ายดิบที่ผู้คัดค้านทำกับผู้ร้องแล้ว ทั้งผู้ร้องทราบดีว่าผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฉบับเดียวกันแล้ว และผู้คัดค้านได้แต่งตั้งทนายความไว้ในคดีดังกล่าว หากผู้ร้องดำเนินคดีโดยสุจริตจริง ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแก่ผู้คัดค้านโดยส่งให้แก่บริษัทโกลเด้น คอตตอน จำกัด หรือทนายความผู้คัดค้านแทนการขอให้ศาลปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แทนการส่งหมายเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ศาลดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแก่ผู้คัดค้าน ณ ภูมิลำเนานอกราชอาณาจักร การยื่นเสนอข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายสินค้าฝ้ายดิบทั้งสี่ฉบับต่อคณะอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ณ เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ การพิจารณาคดีของคณะอนุญาโตตุลาการ และการทำชี้ขาดนั้นกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2557 ทนายผู้คัดค้านตรวจสอบข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงทราบว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2555 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 และศาลดังกล่าวมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ฉบับประทับตราสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ลงวันที่ 12 กันยายน 2555 แล้วเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า การยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่จะต้องมีการบังคับตามคำพิพากษาโดยการยึดทรัพย์หรือมีการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่น คดีนี้ไม่มีการบังคับแก่ผู้คัดค้านแต่อย่างใด ไม่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 จึงให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่อีกฉบับหนึ่งตามคำร้องขอลงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยมีข้ออ้างทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใหม่เพิ่มขึ้นจากคำขอฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ผู้ร้องนำคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ฉบับประทับตราสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ลงวันที่ 12 กันยายน 2555 ดังกล่าวไปใช้อ้างในคดีที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อผู้ร้องคดีนี้ เพื่อให้ศาลในคดีดังกล่าวชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นให้ยกคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการเพื่อบังคับตามคำสั่งดังกล่าวซึ่งถือได้ว่ามีการบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านโดยวิธีอื่นแล้ว ทั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่า คำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศนั้น ผู้ร้องระบุชื่อบริษัทโตโยชิมา แอนด์ โค จำกัด เป็นผู้คัดค้าน และบรรยายคำร้องขอเกี่ยวกับการกระทำของผู้คัดค้านไว้ในคำร้องขอมาแต่ต้น และในคำร้องขอของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 นั้น นอกจากผู้คัดค้านจะอ้างถึงเหตุที่ผู้คัดค้านไม่ทราบมาก่อนว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังอ้างถึงการที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางบังคับให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัดดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เป็นคดีหมายเลขดำที่ กค.280/2556 ของศาลดังกล่าว และต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2557 ผู้ร้องคดีนี้ในฐานะเป็นผู้คัดค้านคดีดังกล่าวยื่นคำคัดค้าน แต่ไม่ได้บอกกล่าวว่าตนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเดียวกันนี้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฉบับเดียวกันไว้แล้ว และต่อมาศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาลดังกล่าวได้ไกล่เกลี่ยคู่ความในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยมีกรรมการ เจ้าหน้าที่ และทนายความผู้ร้องในคดีนี้เข้าร่วมการไกล่เกลี่ย แต่ฝ่ายผู้ร้องก็ไม่แจ้งให้ผู้คัดค้านในคดีนี้ทราบถึงการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ทั้งที่ในวันดังกล่าวยังไม่ได้มีการไต่สวนคำร้องขอในคดีนี้ และการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้คัดค้านคดีนี้ในที่สุดผู้ร้องกลับขอให้ศาลปิดประกาศหน้าศาลและประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งหมาย หลังจากที่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้คัดค้านนอกราชอาณาจักรนั้นได้ล่วงพ้นกำหนด 180 วัน ไปแล้ว แต่ยังมิได้รับแจ้งผลการส่ง อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และต่อมาผู้ร้องคดีนี้ในฐานะผู้คัดค้านคดีดังกล่าวก็ยื่นคำสั่งศาลที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ต่อศาลในคดีหมายเลขดำที่ กค.280/2556 เพื่อขอให้ศาลในคดีดังกล่าวมีคำสั่งยกคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อันถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องคดีนี้ได้ดำเนินการขอให้ศาลบังคับตามคำสั่งศาลที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว ทั้งผู้คัดค้านคดีนี้ยังอ้างอีกว่า ศาลในประเทศที่มีการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้นที่เป็นศาลที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นได้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ซึ่งทำในต่างประเทศคือประเทศสหราชอาณาจักร อันถือได้ว่าเป็นข้อกล่าวอ้างว่าศาลดังกล่าวพิจารณาและมีคำสั่งในคดีนี้โดยปราศจากอำนาจซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบด้วย แต่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า การขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น คู่ความอาจมีคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วได้ ประกอบกับคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้นมีนายธวัชชัย ผู้พิพากษาสมทบซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะในคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ได้ทำความเห็นแย้งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้ โดยตามความเห็นแย้งดังกล่าวได้กล่าวถึงอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards) หรืออนุสัญญานิวยอร์ก (New York Convention) กฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) หรือกฎหมายแม่แบบ (Model Law) บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และเหตุผลไว้ดังนี้ “การที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติให้อำนาจศาลตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ 2 กรณี กรณีแรกตามมาตรา 40 เป็นการตรวจสอบคำชี้ขาดกรณีที่ผู้แพ้คดีร้องคัดค้านคำชี้ขาด และกรณีที่สองตามมาตรา 43 และมาตรา 44 เป็นกรณีผู้แพ้คดีร้องคัดค้านการบังคับตามคำชี้ขาด ซึ่งอำนาจศาลในการตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นไปตามอนุสัญญานิวยอร์ก มาตรา 5 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติกำหนดเหตุแห่งการที่ศาลประเทศภาคีอาจปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ โดยมาตรา 5 (1) (อี) บัญญัติว่า ศาลประเทศภาคีอาจปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ หากผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า “คำชี้ขาดยังไม่มีผลผูกพันคู่พิพาท หรือได้ถูกเพิกถอนหรือระงับใช้เสียโดยศาลที่มีเขตอำนาจหรือภายใต้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาด” หมายความว่า หากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการใดถูกศาลของประเทศที่ทำคำชี้ขาดเพิกถอนแล้ว คำชี้ขาดนั้นอาจไม่สามารถนำไปบังคับประเทศภาคีสมาชิกอื่น ๆ ของอนุสัญญานิวยอร์กได้
แม้อนุสัญญานิวยอร์กบัญญัติให้อำนาจศาลประเทศที่ทำคำชี้ขาดเพิกถอนคำชี้ขาดได้ก็ตาม แต่กลับไม่ได้บัญญัติเหตุที่ศาลสามารถเพิกถอนคำชี้ขาดไว้ดังเช่นกรณีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ทำให้การเพิกถอนคำชี้ขาดเป็นไปตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศที่ทำคำชี้ขาดซึ่งอาจกำหนดเหตุไว้แตกต่างจากอนุสัญญานิวยอร์ก มาตรา 5 ได้ ทำให้อำนาจการตรวจสอบของศาลประเทศที่ทำคำชี้ขาดอาจมีมากกว่าอำนาจของศาลประเทศที่บังคับตามคำชี้ขาด
ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการยกร่างกฎหมายแม่แบบ มีการพยายามทำให้อำนาจการตรวจสอบคำชี้ขาดของประเทศที่ทำคำชี้ขาดและประเทศที่บังคับตามคำชี้ขาดมีความใกล้เคียงกันมากที่สุด ด้วยเหตุนี้กฎหมายแม่แบบจึงได้จำกัดเหตุแห่งการเพิกถอนตามมาตรา 34 ไว้ให้เหมือนกับเหตุที่ศาลอาจปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดต่างประเทศตามอนุสัญญานิวยอร์ก มาตรา 5 อย่างไรก็ตามกฎหมายแม่แบบยังคงหลักการของอนุสัญญานิวยอร์กที่ให้อำนาจการเพิกถอนคำชี้ขาดแก่ประเทศที่ทำคำชี้ขาด
เนื่องจากพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 นำกฎหมายแม่แบบเป็นหลักในการยกร่าง จึงได้กำหนดเหตุแห่งการเพิกถอนตามมาตรา 40 ไว้ ลักษณะใกล้เคียงกับเหตุแห่งการปฏิเสธการบังคับคำชี้ขาดตามมาตรา 43 และมาตรา 44 อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวยังคงหลักการของอนุสัญญานิวยอร์กที่ให้อำนาจเฉพาะ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา 40 แม้กำหนดเหตุไว้เช่นเดียวกับมาตรา 43 แต่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่เหตุเหล่านั้นมีความแตกต่างกัน การที่มาตรา 40 บัญญัติให้ใช้กฎหมายไทยบังคับกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันนั้น เป็นเพราะคำชี้ขาดที่ร้องขอให้ศาลเพิกถอนนั้นเป็นคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการในประเทศไทย ดังนั้นหากนำเหตุดังกล่าวไปเพิกถอนคำชี้ขาดที่ทำในประเทศอื่น เท่ากับว่าศาลใช้กฎหมายไทยตรวจสอบคำชี้ขาดที่ทำในประเทศอื่น ซึ่งไม่ถูกต้อง มิฉะนั้นผู้แพ้คดีอาจร้องขอให้ศาลของประเทศที่ทำคำชี้ขาดและศาลไทยเพิกถอนคำชี้ขาดในขณะเดียวกันได้ อันอาจนำไปสู่ผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ศาลประเทศทำคำชี้ขาดไม่เพิกถอนคำชี้ขาด แต่ศาลไทยเพิกถอนคำชี้ขาด เช่นนี้จะมีผลทำให้คำชี้ขาดนั้นบังคับในประเทศไทยได้หรือไม่ กรณีดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในระบบของอนุสัญญานิวยอร์ก
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 40 วรรคสอง อาจทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าศาลไทยมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดที่ทำในต่างประเทศได้ เนื่องจากบัญญัติว่า “คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ…” และมาตรา 9 บัญญัติว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้” ศาลต่าง ๆ ที่บัญญัติในมาตรา 9 เป็นศาลไทยทั้งสิ้น ทำให้อาจแปลความว่าศาลไทยมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดที่ทำในต่างประเทศได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง การแปลความคำว่า “ศาลที่มีเขตอำนาจ” กรณีนี้จึงต้องแปลความภายใต้กรอบของอนุสัญญานิวยอร์กที่ว่า ศาลที่มีอำนาจเพิกถอนได้แก่ศาลของประเทศที่ทำคำชี้ขาดเท่านั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำในประเทศสหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของผู้ร้อง” ซึ่งความเห็นแย้งที่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558 ระหว่าง ฮึบเพเด้น แอนด์ โค. (จีเอ็มบีเอช แอนด์ โค.) เคจี ผู้ร้อง บริษัทเอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คัดค้าน ซึ่งมีคำวินิจฉัยที่สำคัญว่า การร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต้องร้องขอต่อศาลในประเทศที่ทำคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้น ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 (1) (อี) ในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์ก ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ที่บัญญัติว่า “อาจมีการปฏิเสธไม่ยอมรับและบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ หากคู่พิพาทฝ่ายที่จะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่าคำชี้ขาดนั้นได้ถูกเพิกถอนแล้วโดยเจ้าหน้าที่หรือองค์กรผู้มีอำนาจของประเทศที่มีการทำคำชี้ขาดหรือของประเทศที่คำชี้ขาดได้ทำขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น” ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่า การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่หรือองค์กรที่มีอำนาจในประเทศที่มีการทำคำชี้ขาด ซึ่งโดยปกติก็คือศาล นอกจากนี้ ยังปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ว่า “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระงับข้อพิพาททางพาณิชย์ระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศอื่นด้วย สมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสียใหม่ โดยนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันอย่างกว้างขวางมาเป็นหลักเพื่อการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศให้แพร่หลายยิ่งขึ้น อันจะเป็นการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลอีกทางหนึ่ง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” ซึ่งในกฎหมายแม่แบบ (หรือกฎหมายต้นแบบ) ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ หรือ “UNCITRAL Model Laws” มีบทบัญญัติเรื่องการคัดค้านคำชี้ขาดโดยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยตรง โดยบัญญัติอยู่ใน “Article 34” ซึ่งได้กำหนดเหตุต่างๆที่ศาลอาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไว้ บทบัญญัติในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีที่มาจากการแปล “Article 34” ของกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” ดังกล่าว และใน “Article 36 (1) (v)” ของกฎหมายแม่แบบดังกล่าวได้บัญญัติถึงเหตุที่ศาลอาจปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในกรณีที่คำชี้ขาดนั้นได้ถูกเพิกถอนแล้วในประเทศที่ได้ทำคำชี้ขาดหรือในประเทศที่คำชี้ขาดได้ทำขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น ซึ่งสำนักงานเลขาธิการ “UNCITRAL” ได้ทำคำอธิบายกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” ในเรื่องนี้ไว้ว่า “แม้เหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม “Article 34 (2)” กับเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม “Article 36 (1)” จะเหมือนกันเกือบทั้งหมด แต่ก็มีข้อแตกต่างในทางปฏิบัติ กล่าวคือ การร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตาม “Article 34 (2)” อาจยื่นได้เฉพาะต่อศาลในประเทศที่ทำคำชี้ขาดเท่านั้น ในขณะที่การร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอาจยื่นต่อศาลในประเทศใดก็ได้ จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” “Article 34” ซึ่งเป็นที่มาของบทบัญญัติมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และ “Article 36” แห่งกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการ “UNCITRAL” ดังกล่าวกับบทบัญญัติใน “Article V (1) (e)” แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 นั้น เฉพาะศาลที่มีการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลเท่านั้นที่อาจพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคสอง บัญญัติถึงกรณีที่ศาลไทยที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่กระทำขึ้นในต่างประเทศให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องถือตาม และพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่บัญญัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีดังกล่าวดังเช่นที่ปรากฏรายละเอียดในความเห็นแย้งและคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น และเมื่อพิจารณาความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 อันเป็นบทบัญญัติในเรื่องการขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และมาตรา 41 ถึงมาตรา 44 อันเป็นบทบัญญัติในเรื่องการขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไว้เป็นเหตุที่เหมือนกันเกือบทั้งหมด กล่าวคือ
มาตรา 40 การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้
คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือชี้ขาดเพิ่มเติม นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขหรือตีความคำชี้ขาดหรือทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมแล้ว
ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า
(ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
(ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว
(ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น
(ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตนั้นสามารถแยกออกได้จากคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยในขอบเขตแล้ว ศาลอาจเพิกถอนเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือข้อตกลงนั้นก็ได้ หรือ
(จ) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น องค์ประกอบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้
(2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า
(ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือ
(ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ซึ่งย่อมเห็นได้ว่า เหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดตามข้อ 1 (ก) (ค) (ง) เป็นเหตุเดียวกันกับเหตุในการที่ศาลจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในมาตรา 43 (1) (3) (4) และเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 ข้อ 2 (ก) (ข) ก็ตรงกับเหตุแห่งการที่ศาลจะปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดในมาตรา 44 ซึ่งเมื่อเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 เหมือนกับเหตุแห่งการที่ศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 43 และมาตรา 44 ดังกล่าวแล้ว หากฝ่ายนิติบัญญัติต้องการจะออกกฎหมายให้การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 และการที่ศาลจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 41 มีผลให้กระทำได้ทั้งคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ก็ต้องบัญญัติถึงคำชี้ขาดที่ทำในประเทศหรือต่างประเทศไว้ให้เหมือนกัน แต่กลับปรากฏเพียงมาตรา 43 เท่านั้น ที่บัญญัติถึงการที่ศาลจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ว่า “ไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด” ซึ่งหมายถึงไม่ว่าจะเป็นคำชี้ขาดที่กระทำขึ้นในประเทศไทยหรือในต่างประเทศก็ตาม ส่วนกรณีการขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 ไม่มีข้อความบัญญัติถึงคำชี้ขาดว่า ไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะกระทำในประเทศใด ดังเช่นที่ปรากฏความตามมาตรา 41 ดังกล่าว อันแสดงถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนที่แสดงว่ากรณีการขอให้ศาลไทยเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลไทยที่จะมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่กระทำในต่างประเทศ แต่ให้ศาลไทยมีอำนาจเพียงการทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ทั้งที่ทำในประเทศไทยและในต่างประเทศ และในส่วนเหตุแห่งการขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 (1) (ข) ที่บัญญัติถึงเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาด ในกรณีว่า “สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว” ส่วนเหตุแห่งการที่ศาลจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตาม มาตรา 43 (2) ในกรณีที่ว่า “สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้น ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว” ซึ่งข้อแตกต่างในกรณีเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 (1) (ข) ที่ให้ใช้กฎหมายไทยในกรณีไม่มีข้อตกลงกันไว้ดังกล่าวข้างต้นก็สอดคล้องกับกรณีที่ศาลไทยจะมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้เฉพาะคำชี้ขาดที่ได้กระทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น และกรณีที่มาตรา 43 (2) ใช้ข้อความให้ใช้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงกันไว้ก็สอดคล้องกับกรณีที่ศาลไทยจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำได้ทั้งคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ นอกจากนี้ในส่วนเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 (1) (จ) ที่บัญญัติว่า “องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น องค์ประกอบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้” ส่วนเหตุแห่งการที่ศาลไทยจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 43 (5) ที่บัญญัติว่า “องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือมิได้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้” ซึ่งข้อแตกต่างในกรณีเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 (1) (จ) คือเหตุในกรณีที่องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นนั้น ก็สอดคล้องกับกรณีที่ศาลไทยจะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้เฉพาะคำชี้ขาดที่ได้กระทำในประเทศไทย ส่วนกรณีเหตุที่ศาลไทยจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 (5) ที่ว่า องค์ประกอบหรือกระบวนพิจารณามิได้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้ ก็สอดคล้องกับกรณีที่ศาลไทยมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะได้ทำในประเทศไทยหรือในต่างประเทศอีกเช่นกัน จากเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาเห็นได้ว่าข้อความในเรื่องอำนาจศาลไทยในการสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ไม่มีข้อความให้ศาลไทยมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศและข้อความในเรื่องเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 และข้อความในเรื่องอำนาจศาลไทยในการทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่มีข้อความระบุชัดว่าให้ศาลไทยมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะทำในประเทศใด และข้อความในเรื่องเหตุแห่งการที่ศาลไทยจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ล้วนมีความหมายที่สรุปได้ว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้เฉพาะคำชี้ขาดที่ได้กระทำในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ได้กระทำในต่างประเทศได้แต่อย่างใด ดังนั้นไม่ว่าจะพิจารณาจากความหมายในข้อความตามบทกฎหมายมาตราต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วก็ดี หรือจะพิจารณาถึงความสอดคล้องของบทกฎหมายมาตราต่าง ๆ ดังกล่าวกับอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์ก ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยยอมรับก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นกรณีที่จะต้องถือว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ดังนั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศแต่อย่างใด การที่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่างประเทศพิจารณาต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงการมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว รวมตลอดถึงการมีคำสั่งและออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องล้วนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปราศจากอำนาจ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อได้ความดังกล่าวมานั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษายกคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด และเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลดังกล่าวทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) และมาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 โดยกรณีตามปัญหาดังกล่าวมานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่ว่าผู้คัดค้านจะมีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่หรือไม่ หรือผู้คัดค้านได้ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันทราบเหตุแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและมีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่นั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่างประเทศสำหรับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านฉบับประทับตราสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด ลงวันที่ 12 กันยายน 2555 ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลดังกล่าวตั้งแต่การสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาและกระบวนพิจารณาต่อมาทั้งหมดจนถึงก่อนการมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว รวมทั้งคำสั่งและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด และมีคำสั่งใหม่ในชั้นตรวจรับคำร้องขอเป็นว่า ไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศของผู้ร้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลที่ผู้ร้องชำระต่อศาลดังกล่าวทั้งหมดแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ