คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 “ใบตราส่ง” หมายความว่าเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง ในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้า ตามคำฟ้องปรากฏตามใบตราส่งว่าสายการเดินเรือเอ็มเอสซี ผู้ขนส่ง เป็นผู้ออกใบตราส่งดังกล่าวโดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้ส่งสินค้า โจทก์มิได้เป็นผู้ออกใบตราส่ง ในใบตราส่งยังได้ระบุเลขที่การจองระวางเรือของสายการเดินเรือเอ็มเอสซีว่าเป็นเลขที่ “173IB1107951” ซึ่งตรงกับเลขที่การจองระวางเรือ ในหนังสือยืนยันการจองระวางเรือ (Booking Confirm) ที่โจทก์เป็นผู้จองและโจทก์ส่งหนังสือยืนยันการจองระวางเรือดังกล่าวไปให้จำเลย เมื่อใบตราส่งเป็นเอกสารที่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยออกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของ ใบตราส่งจึงเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนสินค้าของจำเลยทางทะเลระหว่างสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งกับจำเลยผู้ส่งของ ซึ่งแสดงว่าสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งได้รับสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าของจำเลยผู้ส่งของตามที่ระบุในใบตราส่งดังกล่าวไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงการจองระวางเรือที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบนตามหนังสือยืนยันการจองระวางเรือ และการที่โจทก์ได้ชำระค่าระวางขนส่ง ค่ายกขน ค่าธรรมเนียมใบตราส่งและค่าซีล ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่ง แล้วโจทก์ได้ส่งใบเรียกเก็บเงินที่โจทก์ได้ชำระไปดังกล่าวไปยังจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระเงินทดรองจ่ายจำนวน 119,574.64 บาท แก่โจทก์ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยผู้ส่งของในการติดต่อทำสัญญารับขนของทางทะเลกับสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งโดยดำเนินการจองระวางเรือให้แก่จำเลยและได้ทดรองจ่ายค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งแทนจำเลยไปก่อน ดังนี้ หนังสือยืนยันการจองระวางเรือจึงมิใช่หลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลที่จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบน ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย โจทก์ย่อมเป็นเพียงตัวแทนในการไปติดต่อว่าจ้างสายการเดินเรือเอ็มเอสซีให้ขนส่งสินค้าของจำเลยจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบน ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย เท่านั้น มิใช่ผู้ขนส่งแต่อย่างใด
การที่โจทก์ชำระค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งเป็นการทดรองจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปแทนจำเลยผู้ส่งของ แม้เงินที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนจำเลยและเรียกเก็บเงินนั้นจากจำเลยจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ประเภทค่าขนส่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 1 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยผู้ส่งของในการติดต่อสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าของจำเลยกลายเป็นผู้ขนส่งไปด้วย โจทก์ยังคงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 119,574.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 280,251.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 119,574.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงในส่วนคำฟ้องของโจทก์ได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2554 สายการเดินเรือเอ็มเอสซี “MEDITERRANEAN SHIPPING COMPANY S.A.” รับขนส่งสินค้าของจำเลยไปที่เมืองบริสเบน ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย โดยจำเลยตกลงชำระค่าขนส่งเป็นเงินจำนวน 119,574.64 บาท แต่ต่อมาจำเลยแจ้งให้ขนถ่ายสินค้าของจำเลยลงที่ท่าเรือเมืองเมลเบิร์น ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อให้ผู้รับตราส่งขนส่งสินค้าของจำเลยไปที่เมืองบริสเบน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 “ใบตราส่ง” หมายความว่าเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง ในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้า (container) ตามคำฟ้องปรากฏตามใบตราส่งว่าสายการเดินเรือเอ็มเอสซี (MEDITERRANEAN SHIPPING COMPANY S.A.) ผู้ขนส่ง (carrier) เป็นผู้ออกใบตราส่งดังกล่าวโดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้ส่งสินค้า (shipper) โจทก์มิได้เป็นผู้ออกใบตราส่ง ในใบตราส่งยังได้ระบุเลขที่การจองระวางเรือของสายการเดินเรือเอ็มเอสซีว่าเป็นเลขที่ “173IB1107951” ซึ่งตรงกับเลขที่การจองระวางเรือ (Booking No.) ในหนังสือยืนยันการจองระวางเรือ (Booking Confrim) ที่โจทก์เป็นผู้จองและโจทก์ส่งหนังสือยืนยันการจองระวางเรือดังกล่าวไปให้จำเลยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 เมื่อใบตราส่ง เป็นเอกสารที่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยออกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของ ใบตราส่งจึงเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนสินค้าของจำเลยทางทะเลระหว่างสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งกับจำเลยผู้ส่งของ ซึ่งแสดงว่าสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งได้รับสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าของจำเลยผู้ส่งของตามที่ระบุในใบตราส่งดังกล่าวไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงการจองระวางเรือที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบนตามหนังสือยืนยันการจองระวางเรือ และการที่โจทก์ได้ชำระค่าระวางขนส่ง ค่ายกขน ค่าธรรมเนียมใบตราส่งและค่าซีล ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งตามใบเสร็จรับเงินแล้วโจทก์ได้ส่งใบเรียกเก็บเงินที่โจทก์ได้ชำระไปดังกล่าวไปยังจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระเงินทดรองจ่ายจำนวน 119,574.64 บาท แก่โจทก์ตามใบเรียกเก็บเงินทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยผู้ส่งของในการติดต่อทำสัญญารับขนของทางทะเลกับสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งโดยดำเนินการจองระวางเรือให้แก่จำเลยและได้ทดรองจ่ายค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งแทนจำเลยไปก่อน ดังนี้ หนังสือยืนยันการจองระวางเรือ (Booking Confrim) จึงมิใช่หลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลที่จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบน ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย ดังที่จำเลยให้การและอุทธรณ์ โจทก์ย่อมเป็นเพียงตัวแทนในการไปติดต่อว่าจ้างสายการเดินเรือเอ็มเอสซีให้ขนส่งสินค้าของจำเลยจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังท่าเรือบริสเบนประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย เท่านั้น มิใช่ผู้ขนส่งแต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเมื่อได้ส่งสินค้าไปยังปลายทางแล้ว โจทก์จะออกใบเรียกเก็บเงินค่าระวางขนส่ง ค่ายกขนค่าธรรมเนียม ใบตราส่ง ค่าซีล และค่าใช้จ่ายต่างๆ จากจำเลย โดยระบุในใบเรียกเก็บเงินของโจทก์ทุกครั้งว่าให้จำเลยหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ของโจทก์ดังกล่าวในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่เรียกเก็บทุกครั้งเช่นเดียวกับใบเรียกเก็บเงิน อันเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของเงินได้พึงประเมินประเภทค่าขนส่ง เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าขนส่งจากจำเลยแล้วโจทก์ก็จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยระบุว่าเป็นค่าขนส่งนั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าที่โจทก์ชำระค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่สายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งเป็นการทดรองจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปแทนจำเลยผู้ส่งของ แม้เงินที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนจำเลยและเรียกเก็บเงินนั้นจากจำเลยจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ประเภทค่าขนส่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 1 ดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยผู้ส่งของในการติดต่อสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าของจำเลยกลายเป็นผู้ขนส่งไปด้วย โจทก์ยังคงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ขนส่งแต่เป็นเพียงตัวแทนจำเลยในการติดต่อสายการเดินเรือเอ็มเอสซีผู้ขนส่ง จำเลยจึงไม่อาจฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายเนื่องจากส่งมอบสินค้าที่ขนส่งของจำเลยล่าช้าในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ขนส่งซึ่งผิดสัญญาขนส่งได้ ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสิทธิเรียกร้องตามฟ้องแย้งที่จำเลยขอให้โจทก์ผู้ขนส่งรับผิดเพื่อการส่งมอบสินค้าดังกล่าวล่าช้ายังไม่ขาดอายุความจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับความรับผิดในชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งนั้นยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งทั้งสองศาลกับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในส่วนคำฟ้องของโจทก์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share