คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9206/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1.5 หน่วยการใช้ (เม็ด) ติดตัวมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเสพ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างร้ายแรงและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยไม่อุทธรณ์ ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต การที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่าจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปในศาลชั้นต้นมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาด้วย เป็นการไม่ชอบ
การที่จำเลยเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเดินทางกลับประเทศไทยโดยนำเมทแอมเฟตามีน 1.5 เม็ด เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าเป็นการนำเข้าตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งหมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามามากหรือน้อยหรือด้วยเหตุผลประการใดของจำเลยก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 67 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานเป็นคนสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนดปรับ 1,000 บาท ฐานเป็นคนสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนดปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ฐานเป็นคนสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนด ปรับ 500 บาท ฐานเป็นคนสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนด ปรับ 500 บาท รวมจำคุก 6 เดือน ปรับ 11,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งมีบุตรต้องอุปการะเลี้ยงดู เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่ง โทษจำคุกรอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 คุมความประพฤติจำเลย โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี ให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร 12 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกบทหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ปรับ 1,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำคุก 25 ปี และปรับ 501,000 บาท ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี ไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและวันเดียวกันได้เดินทางกลับประเทศไทย โดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนด แล้วจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่บริเวณท่าเรือบ้านดงสรวง ตำบลดงบัง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นตัวจำเลยไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่เห็นจำเลยมีพิรุธจึงพาจำเลยไปให้แพทย์โรงพยาบาลบึงโขงหลงตรวจร่างกาย ก่อนตรวจจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลาง ซึ่งซุกซ่อนไว้ในซองผ้าสำหรับใส่โทรศัพท์เคลื่อนที่มอบให้นายแพทย์ผู้ตรวจ สำหรับความผิดฐานเป็นคนสัญชาติไทยเดินทางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนดและความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ จำเลยไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่าจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นฟังพยานโจทก์ว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องติดตัวมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเสพและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยไม่อุทธรณ์ ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปใน ศาลชั้นต้นมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อการปราบปรามและควบคุมยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนเป็นภัยต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์และสังคม การที่จำเลยเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเดินทางกลับประเทศไทย โดยนำเมทแอมเฟตามีน 1.5 เม็ด เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าเป็นการนำเข้าตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งหมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วไม่ว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามามากหรือน้อย หรือด้วยเหตุผลประการใดของจำเลยก็ตาม ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า รายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางไม่ได้ระบุสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนของกลางในส่วนที่จำเลยถูกกล่าวหาจึงต้องสงสัยว่า เม็ดยา 1.5 เม็ด มีสารบริสุทธิ์อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรนั้น เห็นว่า ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ระบุว่า ผลการตรวจพบยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีนที่วัตถุของกลาง จึงเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ไม่ระบุปริมาณสารบริสุทธิ์ก็ตาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share