คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 85 บัญญัติให้นายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตาม พ.ร.บ.นี้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนและเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งคำวินิจฉัยนั้น
เดิมสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีคำสั่งว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่จำต้องนำส่งเงินสมทบทั้งในส่วนของลูกจ้างและของนายจ้างอีกต่อไปนับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างของพนักงานขาย SA โจทก์จึงไม่ได้นำส่งเงินสมทบนับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 ถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 ต่อมาสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 แจ้งให้โจทก์ทราบความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนคำสั่งเดิมและยกเลิกคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่เนื่องจากมติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานซึ่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมให้ความเห็นชอบ โดยมีคำสั่งใหม่ว่าให้พิจารณานิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นราย ๆ ไป และก่อนที่จะวินิจฉัยนิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างของโจทก์แต่ละราย ให้โจทก์ส่งเงินสมทบให้แก่พนักงานขาย SA นับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไปก่อน โจทก์และลูกจ้างของโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อไปได้ ดังนี้การพิจารณาทบทวนคำสั่งเดิม ยกเลิกคำสั่ง และออกคำสั่งใหม่ของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ยังไม่ได้ปลดชื่อพนักงานขาย SA ออกจากการเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีพนักงานขาย SA จำนวน 10 คน ยื่นขอรับและได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ อันเป็นการใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนได้ในฐานะผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และเมื่อโจทก์กับพนักงานขาย SA มีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่หักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างและนำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้แก่จำเลยตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 46 และมาตรา 47

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยฉบับที่ รง 0627/15837 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 673/2553 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2553 และให้โจทก์ส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้แก่จำเลยนับตั้งแต่วันที่จำเลยมีหนังสือฉบับที่ รง 0627/15837 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 เป็นต้นไป โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินค่าปรับหรือเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงยุติตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยรับกันว่าพนักงานขาย SA มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของโจทก์ และข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความรับกันว่า ตามที่นายสิทธิพล รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาหลักฐานกรณีพนักงานขายที่มีฐานค่าจ้างในการคำนวณส่งเงินสมทบต่ำ กองนิติการ สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการตรวจสอบสถานะของพนักงานขาย SA ของโจทก์ และเห็นว่าไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 จึงมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ซึ่งมีหนังสือขอให้ตีความนิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างและนายจ้างและมีหนังสือเวียนแจ้งให้หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมทราบเนื่องจากโจทก์มีสาขาทั่วประเทศ ต่อมาสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาตีความนิติสัมพันธ์ให้โจทก์ทราบและได้วินิจฉัยว่า พนักงานขาย SA ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของโจทก์ หากโจทก์ไม่พอใจในคำวินิจฉัยสามารถอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งนี้ตามหนังสือที่ รง 0627/3213 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2552 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง แต่โจทก์ทำหนังสือขอทราบแนวทางปฏิบัติจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ต่อมาสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีหนังสือแจ้งว่า พนักงานขาย SA ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของโจทก์ตั้งแต่วันที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน แม้จะมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้วก็หามีผลให้เกิดนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และสั่งให้โจทก์จำแนกประเภทลูกจ้างว่า บุคคลใดอยู่ในตำแหน่งพนักงานขาย SA ตัวแทนจำหน่าย SR ผู้แทนขาย SP เพื่อปลดบุคคลเหล่านั้นออกจากระบบประกันสังคม โจทก์ไม่มีหน้าที่แจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้แก่บุคคลดังกล่าวและพนักงานไม่มีสถานะเป็นผู้ประกันตน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับเช็คช่วยชาติมูลค่า 2,000 บาท ทั้งสั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินสมทบคืน โจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งการจำแนกประเภทลูกจ้างและขอรับเงินสมทบคืนจากจำเลยและขณะเดียวกันสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ทำหนังสือรายงานข้อเท็จจริงถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมซึ่งให้ความเห็นชอบกับมติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานโดยให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ยกเลิกคำสั่งเดิมและให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ตรวจสอบกรณีนิติสัมพันธ์ของกลุ่มลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขาย SA เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วหากไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างจึงจะมีคำสั่งเพิกถอนลูกจ้างเป็นรายบุคคล เพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิโต้แย้งตามกฎหมายโดยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ต่อไป การเพิกถอนความเป็นผู้ประกันตนให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่มีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดตามมาตรา 50 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยแจ้งให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีหนังสือที่ รง 0627/15837 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานมีมติให้พิจารณานิติสัมพันธ์ของพนักงานเป็นราย ๆ ไป หากผลการพิจารณามีหลักฐานบ่งชี้ชัดว่า พนักงานรายใดไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างโจทก์ก็ให้สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนนับตั้งแต่วันที่วินิจฉัยและในขณะเดียวกันก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยให้โจทก์ส่งเงินสมทบตามกฎหมายให้พนักงานขาย SA นับตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไปและสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ขอยกเลิกคำสั่งตามหนังสือที่ รง 0627/3213 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2552 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามหนังสืออุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2552 คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 673/2553 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2553 ว่า พนักงานขาย SA ยังคงมีสถานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ตลอดมาและมีสิทธิตามกฎหมายประกันสังคมทุกประการ โจทก์จึงมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้แก่พนักงานขาย SA ตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 ระหว่างนี้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ไม่ได้จำหน่ายชื่อพนักงานขาย SA ออกจากการเป็นผู้ประกันตน พนักงานขาย SA จำนวน 10 ราย ยังคงขอเบิกและได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ชราภาพ และสงเคราะห์บุตรจากกองทุนประกันสังคม และพนักงานขาย SA จำนวน 7 ราย ขอใช้สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายหรือถึงแก่ความตายจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งได้อนุมัติให้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนไปแล้วบางราย แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม 2552 ไม่ปรากฏว่าลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขาย SA สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์และช่วงเวลาดังกล่าวนั้นสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 กำลังพิจารณานิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขาย SA ซึ่งแม้จะมีคำสั่งที่ รง 0627/3213 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2552 ว่าพนักงานขาย SA ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของโจทก์ไปก่อนระหว่างรอการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน แต่ต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่เป็นให้โจทก์นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามหนังสือที่ รง 0627/15837 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 โจทก์ยอมรับว่าพนักงานขาย SA เป็นลูกจ้างของโจทก์และคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขาย SA เป็นผู้ประกันตน โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบให้ครบถ้วนตามกฎหมายโดยต้องนำส่งเงินสมทบสำหรับงวดเดือนมีนาคมถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 แต่เหตุที่โจทก์ไม่นำส่งเงินสมทบระหว่างงวดเดือนมีนาคมถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 เนื่องจากคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจไม่นำส่งเงินสมทบจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 วรรคท้าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างและนำส่งเงินสมทบในส่วนของโจทก์เข้ากองทุนประกันสังคมระหว่างงวดเดือนมีนาคมถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีคำสั่งว่า พนักงานขาย SA ของโจทก์ ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของโจทก์และสั่งให้โจทก์ไม่ต้องนำส่งเงินสมทบสำหรับพนักงานดังกล่าวอีกต่อไป โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งเป็นผลให้คำสั่งเป็นที่สุด และการที่โจทก์และลูกจ้างไม่ได้ส่งเงินสมทบตั้งแต่งวดเดือนมีนาคมถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 ความเป็นผู้ประกันตนของพนักงานขาย SA จึงสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 38 ต่อมาสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่ว่าให้โจทก์ส่งเงินสมทบสำหรับพนักงานขาย SA ตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป คำสั่งให้ส่งเงินสมทบย้อนหลังนับตั้งแต่งวดเดือนมีนาคมถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 ทำให้ลูกจ้างของโจทก์เสียสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และเสียสิทธิที่จะได้รับเช็คช่วยชาติมูลค่า 2,000 บาท และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ จึงเป็นการออกคำสั่งย้อนหลังให้เป็นโทษแก่ผู้ได้รับคำสั่ง ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และไม่เป็นธรรมแก่พนักงานขาย SA หากจำเลยจะตีความใหม่ว่าพนักงานขาย SA เป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ต้องตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายที่สุจริตและตกเป็นผู้เสียหายกล่าวคือ ต้องให้โจทก์นำส่งเงินสมทบสำหรับพนักงานขาย SA นับแต่งวดเดือนกันยายน 2552 อันเป็นวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งคำสั่งใหม่เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 85 บัญญัติให้นายจ้าง ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวก็ตาม แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนและเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งคำวินิจฉัยนั้น เมื่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีคำสั่งแจ้งให้โจทก์ทราบความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนคำสั่งเดิมและยกเลิกคำสั่งเดิม แล้วมีคำสั่งใหม่ก็สืบเนื่องจากมติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมให้ความเห็นชอบ เพื่อให้โจทก์และลูกจ้างของโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไปได้ และในระหว่างนี้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ส่งเงินสมทบของพนักงานขาย SA นับตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ยังไม่ได้ปลดชื่อพนักงานขาย SA ออกจากการเป็นผู้ประกันตน และพนักงานขาย SA จำนวน 10 คน ยื่นขอรับและได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ แสดงว่าพนักงานขาย SA ยังคงใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนได้ในฐานะผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าพนักงานขาย SA มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่หักค่าจ้างของลูกจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างและนำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 46 และมาตรา 47 การที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 และคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำสั่งและคำวินิจฉัยให้โจทก์นำส่งเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป ชอบแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share