คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11028/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใดๆ ก็ตาม เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน” เมื่อบริษัท บ. เจ้าของโรงเรือนพิพาทคนเก่าผู้รับประเมินเป็นหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและยังมิได้ชำระ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นเจ้าของคนใหม่ ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีร่วมกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยประการสำคัญก็เพื่อให้จำเลยยกเลิกการเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามนัยมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลา เช่นว่านั้น คดีโจทก์เป็นเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์เป็นเจ้าของคนใหม่ ย่อมอยู่ในฐานะเดียวกับเจ้าของคนเก่าผู้รับประเมิน โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้อง เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามแบบ ภ.ร.ด. 10 เล่มที่ 7 เลขที่ 49 ลงวันที่ 19 เมษายน 2554
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ไม่รับฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์อ้างว่า โจทก์มิได้ยื่นฟ้องคดีนี้ด้วยเหตุหรือมาตราดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย แต่การที่โจทก์ฟ้องคดีเกิดจากจำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีจากบริษัทบรรพิศิริชัย จำกัด เจ้าของโรงเรือนพิพาทที่โอนขายให้แก่โจทก์โดยจำเลยไม่เคยแจ้งการประเมินภาษีมายังโจทก์และโจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ (แบบ ภ.ร.ด. 9) ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งว่าโจทก์หมดสิทธิที่จะขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โดยระบุว่าคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ส่วนคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ที่โจทก์ยื่นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 เป็นการยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 26 ทุกประการ เพียงแต่เป็นการยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งเตือนให้ชำระหนี้ค่าภาษี การฟ้องคดีของโจทก์จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ที่โจทก์จะต้องชำระค่าภาษีให้ครบก่อนที่จะฟ้องคดี ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 45 บัญญัติว่า ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใดๆ ก็ตาม เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน เมื่อบริษัทบรรพิศิริชัย จำกัด เจ้าของโรงเรือนพิพาทคนเก่าผู้รับประเมินเป็นหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและยังมิได้ชำระ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นเจ้าของคนใหม่ ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีร่วมกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง ยกเหตุดังกล่าวข้างต้นขึ้นอ้าง โดยประการสำคัญก็เพื่อให้จำเลยยกเลิกการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ตามนัยแห่งมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งตามมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า “คดีตามมาตรา 7 (1) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเช่นว่านั้น…” คดีโจทก์เป็นเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์เป็นเจ้าของคนใหม่ ย่อมอยู่ในฐานะเดียวกับเจ้าของคนเก่าผู้รับประเมิน โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา 31 ท่านห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้น…” ดังนั้น โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะเดียวกับผู้รับประเมินจะอ้างเหตุใด ๆ ก็ตามเพื่อจะไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้ แม้โจทก์จะตั้งรูปคดีเป็นเรื่องตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 เสียก่อนไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share