คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9752/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จดหมายแนบท้ายคำร้องที่โจทก์ทั้งสามขออนุญาตให้รวมไว้ในสำนวนโดยอ้างว่าเพิ่งพบหลังจากสืบพยานโจทก์ทั้งสามและสืบพยานจำเลยทั้งสี่เสร็จสิ้นแล้ว เป็นเอกสารที่ศาลชั้นต้นไม่ได้รับไว้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นอ้างนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ ณ. ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ให้บังคับตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ณ. และ ก. คนละ 1 ส่วน เท่า ๆ กัน กับขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทต้องพิจารณาจากผลได้ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ทั้งสามประกอบผลเสียประโยชน์ของฝ่ายจำเลยทั้งสี่ หากโจทก์ทั้งสามชนะคดีเป็นเกณฑ์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 มีผลบังคับ และให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญส่ง ผู้ตาย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามเป็นประการแรกว่า พินัยกรรม เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความของนางสาวศิริวรรณที่ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามติงได้ความว่า การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมกระทำกันที่บริเวณริมน้ำโดยเวลานั้นนางแฉล้มอยู่ในบ้าน ซึ่งทนายโจทก์ทั้งสามมิได้ถามค้านนายอภิชาติให้ได้ความชัดเจนว่านายอภิชาติเห็นโจทก์ที่ 2 ที่จุดใดและขณะนั้นนางสาวศิริวรรณมีโอกาสเห็นโจทก์ที่ 2 ด้วยหรือไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของนางสาวศิริวรรณกับนายอภิชาติในส่วนนี้มีข้อแตกต่างในสาระสำคัญที่เป็นพิรุธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ทั้งสามอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เบิกความถึงเวลาที่มีการพบพินัยกรรมว่าจำเลยที่ 2 นำพินัยกรรมดังกล่าวที่พบไปให้ดูครั้งแรกในเดือนเมษายน 2555 แต่จำเลยที่ 2 กลับเบิกความว่าหลังจากพบพินัยกรรม จำเลยที่ 2 แจ้งให้นางแฉล้มทราบเป็นคนแรก ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แตกต่างกันดูเป็นพิรุธ จึงรับฟังไม่ได้ นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำพยานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้แล้ว ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ซักถามว่า “ภายหลังจากวันที่ 2 เมษายน 2555 ข้าฯ ทราบจากนางสาวไอรดา จำเลยที่ 2 ว่า เพิ่งพบพินัยกรรมของนายบุญส่งอีกฉบับในห้องนอนของนายบุญส่งก่อนถึงแก่กรรม…รายละเอียดปรากฏตามพินัยกรรม” แล้วจำเลยที่ 1 ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า “พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 จำเลยที่ 2 เป็นผู้พบและนำมาให้ข้าฯ ดูครั้งแรกวันที่เท่าใดจำไม่ได้ แต่เดือนเมษายน 2555 อยู่ในซองสีน้ำตาลแต่ถูกเปิดไว้แล้ว ไม่ได้ปิดผนึกไว้ แต่ไม่มีลายเซ็นของเจ้ามรดกเซนต์กำกับไว้ที่ซอง และบริเวณหน้าซองก็ไม่มีข้อความใดปรากฏอยู่” โดยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามติงว่า ในวันราชการเปิดทำการจำเลยที่ 1 พักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชที่จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นที่ปรึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำเลยที่ 1 กลับมาพักที่บ้านเลขที่ 1459 เฉพาะวันหยุดราชการเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ซักถามว่า “เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 ข้าฯพบพินัยกรรมของนายบุญส่งฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ในห้องนอนของนายบุญส่ง” แล้วจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ทั้งสี่ถามค้านว่า “หลังจากที่ข้าฯพบพินัยกรรม ข้าฯ แจ้งให้มารดาของข้าฯทราบเป็นคนแรก ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2555 จึงแจ้งให้กับจำเลยที่ 1 ทราบซึ่งขณะนั้นข้าฯ แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงเดินทางมาที่บ้าน” การเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว มีลักษณะเป็นการประมาณเวลาว่าพบพินัยกรรมเมื่อเดือนพฤษภาคมอันเป็นเดือนที่ถัดมาจากเดือนเมษายน มิได้ยืนยันแน่นอนว่าพบพินัยกรรมในเดือนพฤษภาคม 2555 คำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงไม่แตกต่างขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ให้ดูเป็นพิรุธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า ตามที่นางแฉล้มไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 4185 เนื่องจากโฉนดที่ดินฉบับผู้ถือสูญหายต่อเจ้าพนักงานที่ดินในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ตามสำเนาคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน โดยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ก่อนหน้านั้นนางแฉล้มกับจำเลยที่ 2 ซึ่งทราบดีว่านายบุญส่งเก็บเอกสารไว้ที่ใดบ้างช่วยกันค้นหาโฉนดที่ดินเลขที่ 4185 แล้วไม่พบ ซึ่งการค้นดังกล่าวหากพินัยกรรม มีอยู่จริง จำเลยที่ 2 ก็ต้องพบในช่วงเวลานั้นแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสี่ที่ว่าจำเลยที่ 2 เพิ่งพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ในภายหลังจึงมีข้อสงสัย นั้น เห็นว่า ทนายโจทก์ทั้งสามไม่ได้ถามค้านจำเลยที่ 2 ให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางแฉล้มและจำเลยที่ 2 ค้นหาโฉนดที่ดินในห้องนอนของนายบุญส่งด้วยหรือไม่ การค้นหาดังกล่าวได้ตรวจดูเอกสารอื่นของนายบุญส่งหรือไม่ และจำเลยที่ 2 พบพินัยกรรมตรงจุดใดในห้องนอนของนายบุญส่ง กรณีจึงอาจเป็นไปได้ว่าบริเวณที่นายบุญส่งเคยเก็บเอกสารไว้ มิได้อยู่ในห้องนอนของนายบุญส่งจึงไม่มีการตรวจค้นหาในห้องนอนของนายบุญส่งกัน หรืออาจเป็นไปได้ว่าการค้นหาดังกล่าวมุ่งตรวจหาแต่โฉนดที่ดินซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวโดยไม่สนใจดูรายละเอียดเอกสารอื่นด้วย ลำพังข้อเท็จจริงในคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่จึงไม่พอให้สรุปได้อย่างแน่ชัดว่าการที่จำเลยที่ 2 พบพินัยกรรมในภายหลังเป็นเรื่องผิดปกติที่มีข้อควรสงสัย ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า ฝ่ายจำเลยทั้งสี่เกรงว่าหากโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายบุญส่งฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 แล้ว โจทก์ที่ 1 จะรื้อฟื้นเรื่องผลประโยชน์ที่ได้มาจากค่าเช่าร้านอาหารและพื้นที่เต็นท์ขายรถในที่ดินมรดกของนายบุญส่งด้านหน้าเดือนละ 90,000 บาท โดยไม่เคยแบ่งให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสามมาก่อน จึงเป็นสาเหตุให้ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำปลอมพินัยกรรมนั้น เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่ายโจทก์ทั้งสามเคยทวงถามผลประโยชน์ได้ค่าเช่าจากฝ่ายจำเลยทั้งสี่มาก่อน ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า เดิมจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านซึ่งรวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ตลอดจนค่าดูแลรักษาพยาบาลของนายบุญส่งกับนางแฉล้ม และแบ่งใช้คืนค่าถมดินให้แก่จำเลยที่ 3 และได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า หลังจากนายบุญส่งถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้เก็บค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านส่วนหนึ่ง และคืนเป็นค่าลงทุนทำร้านกับค่าถมดินให้แก่จำเลยที่ 3 อีกส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่แบ่งเงินให้โจทก์ทั้งสามเพราะโจทก์ทั้งสามไม่เคยมาดูแลนายบุญส่งเลย ดังนี้ การใช้จ่ายผลประโยชน์จากรายได้ค่าเช่าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยโต้แย้งพิพาทกัน ทั้งนางแฉล้มก็ย่อมรับทราบการใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 ตลอดมา ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า นายบุญส่งเคยมีจดหมายลงวันที่ 3 กันยายน 2545 ถึงโจทก์ที่ 1 กล่าวถึงที่ดินที่จะยกให้ตามจดหมายท้ายคำร้องขอส่งเอกสารลงวันที่ 4 กันยายน 2556 ของโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายบุญส่งจะทำพินัยกรรมตัดโจทก์ที่ 1 มิให้ได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม เห็นว่า จดหมายท้ายคำร้องดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามขออนุญาตให้รวมไว้ในสำนวนโดยอ้างว่าเพิ่งพบหลังจากมีการสืบพยานโจทก์ทั้งสามและสืบพยานจำเลยทั้งสี่เสร็จสิ้นแล้ว เป็นเอกสารที่ศาลชั้นต้นไม่ได้รับไว้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นอ้างนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่โจทก์ทั้งสามอ้างทำนองว่า ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ นายอภิชาติและนางสาวจีริสุมัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ด้วยมีพฤติการณ์ร่วมกันวางแผนดำเนินการติดต่อตลอดมา โดยนางสาวจีริสุมัยเคยเป็นลูกน้องนายอภิชาติมาก่อน ตามสำเนาหนังสือให้ความยินยอมอันเป็นหนังสือให้ความยินยอมจากทายาทให้จำเลยที่ 1 มายื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งมีลายมือชื่อนายอภิชาติเป็นพยานอยู่ด้วย ซึ่งหากนายบุญส่งทำพินัยกรรม นายอภิชาติก็น่าจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 และทายาทอื่นทราบในเวลานั้นว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมไว้ในปี 2544 และมอบพินัยกรรมคู่ฉบับให้นายอภิชาติเก็บรักษาเพื่อนางสาวจีริสุมัยจะได้ทำคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งได้ถูกต้องตามความจริง ครั้นความปรากฏว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ในปี 2533 ฝ่ายจำเลยทั้งสี่จึงมาอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า แม้คำเบิกความของนายอภิชาติที่ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านถึงเหตุที่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 หรือนางแฉล้มทราบว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมในปี 2544 ไว้ เพราะนายบุญส่งเคยปรับทุกข์ว่า”อยากให้ลูก ๆ รักใคร่กัน” อันมีความหมายทำนองว่านายอภิชาติไม่ต้องการให้บุตรของนายบุญส่งทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงไม่เปิดเผยว่านายบุญส่งได้ทำพินัยกรรมไว้เป็นเหตุผลที่ไม่หนักแน่น และดูน่าสงสัยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และนางสาวจีริสุมัยก็ดำเนินการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งต่อศาลตั้งแต่แรกอย่างเปิดเผยโดยมีการแจ้งให้โจทก์ที่ 1 และทายาทอื่นทราบ ทั้งนายอภิชาตินางสาวจีริสุมัย และนางสาวศิริวรรณเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองทรัพย์มรดกของนายบุญส่ง การร่วมมือกับฝ่ายจำเลยทั้งสี่ปลอมพินัยกรรมเพื่อหักล้างพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายบุญส่งที่ทำไว้ในปี 2533 เพียงต้องการให้เหลือทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก 6 คน จากจำนวนเต็มที่มี 8 คน และให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกกับเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเป็นเรื่องที่นายอภิชาติ นางสาวจีริสุมัย และนางสาวศิริวรรณต้องกระทำผิดต่อจรรยาบรรณในวิชาชีพทนายความกับต้องเสี่ยงกับการต้องโทษคดีอาญา จึงไม่น่าเชื่อว่าบุคคลทั้งสามจะกล้ากระทำเช่นนั้น ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามคาดเดาเอาเองโดยปราศจากหลักฐานที่มั่นคงสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ และส่วนโจทก์ทั้งสามอ้างว่า ลายมือชื่อของนายบุญส่งในพินัยกรรมมีข้อพิรุธ โดยมีลักษณะคล้ายใช้ปากกาหมึกซึมในการลงลายมือชื่อ แต่ปรากฏร่องรอยกระดาษนูนด้านหลังคล้ายถูกกดขณะลงลายมือชื่ออย่างแรง อันเป็นการผิดปกติวิสัยของการลงลายมือชื่อด้วยปากกาหมึกซึม ลายมือชื่อของนายบุญส่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลอกลายมือของนายบุญส่งลงในพินัยกรรมก่อนแล้วจึงนำปากกาหมึกซึมไปลากเส้นตามลายที่ลอกไว้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจึงไม่มีผลให้รับฟังได้ นั้น เห็นว่า ศาลฎีกาใช้แว่นขยายส่องดูประกอบการใช้นิ้วสัมผัสด้านหลังกระดาษพินัยกรรม ตรงบริเวณที่มีลายมือชื่อนายบุญส่งอยู่ 6 จุด แล้ว ปรากฏว่ามีรอยนูนเล็กน้อยที่สม่ำเสมอกันเกือบทั้งหมด แต่ละเส้นหมึกที่เขียนอยู่ด้านหน้าไม่ใช่ลายเส้นหมึกปากกาหมึกซึม เนื่องจากเมื่อใช้น้ำแตะแล้วไม่มีรอยเลอะเปื้อนซึมขยายออก การลงลายมือชื่อทั้งหกจุดนั้นมีลักษณะเป็นการใช้ปากกาลูกลื่นหรือปากกาอื่นที่ไม่ใช่ปากกาหมึกซึมโดยผู้ลงลายมือชื่อกดปากกาขณะลงลายมือชื่อ ซึ่งหากเป็นการลงลายมือชื่อด้วยวิธีลอกลายดังที่โจทก์ทั้งสามอ้าง ผู้เชี่ยวชาญผู้ทำการตรวจพิสูจน์ด้วยหลักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ย่อมตรวจพบข้อพิรุธและตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานการตรวจพิสูจน์ แต่ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์พยานเอกสารที่ส่งมาผู้เชี่ยวชาญผู้รับผิดชอบสำนวนพร้อมองค์คณะผู้ตรวจสอบมีความเห็นว่า ลายมือชื่อในเอกสารที่ส่งไปตรวจพิสูจน์เป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวโดยไม่มีข้อสังเกตแต่อย่างใด ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ฉะนั้น เมื่อภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์ทั้งสาม แต่โจทก์ทั้งสามมีเพียงคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่าบุคคลทั้งสองเชื่อว่าพินัยกรรม เป็นพินัยกรรมปลอมโดยเหตุผลแวดล้อมกรณีที่โจทก์ทั้งสามอ้างในฎีการับฟังไม่ได้ดังที่วินิจฉัยข้างต้น ส่วนจำเลยทั้งสี่มีนายอภิชาติกับนางศิริวรรณ ผู้เป็นพยานในพินัยกรรมมายืนยันว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมไว้จริง สนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เพิ่งพบพินัยกรรมที่ห้องนอนของนายบุญส่งเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 ประกอบกับพยานผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นในการตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อของนายบุญส่งจริง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสาม จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า พินัยกรรม เป็นพินัยกรรมที่นายบุญส่งผู้ตายทำไว้จริง กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญส่งหรือไม่อีกต่อไป ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามเป็นประการสุดท้ายว่าตามที่ศาลชั้นต้นประเมินราคาที่ดินมรดกตามโฉนดเลขที่ 4184 และ 4185 เป็นเงิน 74,766,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามต้องเสียค่าขึ้นศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดชั้นศาลละ 224,766 บาท เป็นการถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายณรงค์ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นายณรงค์และนางสาวกุลตลา คนละ 1 ส่วน เท่า ๆ กัน กับขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญส่งผู้ตาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทต้องพิจารณาจากผลได้ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ทั้งสามประกอบผลเสียประโยชน์ของฝ่ายจำเลยทั้งสี่หากโจทก์ทั้งสามชนะคดีเป็นเกณฑ์ ซึ่งหากโจทก์ทั้งสามชนะคดีโดยจำเลยทั้งสี่ถูกกำจัดมิให้ได้รับทรัพย์มรดกของนายบุญส่งตามฟ้อง ทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ก็จะหายไป 4 คน และเหลืออยู่ 4 คน จำนวนอัตราส่วนเฉลี่ยที่โจทก์ทั้งสามและนางสาวกุลตลามีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจะเพิ่มขึ้นอีกคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน เป็นได้รับคนละ 1 ใน 4 ส่วน โดยทรัพย์มรดกที่ทายาททั้งสี่ได้รับเพิ่มมีราคา 37,380,000 บาท ทั้งนี้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นการฟ้องให้ทรัพย์มรดกราคา 37,380,000 บาท ดังกล่าว ตกแก่ทายาท 4 คน ที่เหลือโดยมิได้ขอให้ตกแก่ตนจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องถือว่าคดีนี้มีข้อพิพาทกันในทุนทรัพย์จำนวน 37,380,000 บาท อนึ่ง หากโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ร่วมฟ้องมาด้วย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็ย่อมได้ประโยชน์จากคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว การจะคิดแยกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์ที่ 2 และที่ 3 อีก จึงเป็นเรื่องซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรเรียกเก็บค่าขึ้นศาลโจทก์ทั้งสามรวมกันจากทุนทรัพย์ 37,380,000 บาท เป็นค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 200,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาในส่วนนี้มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมาทั้งสามศาลให้แก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share