แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา จึงมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลทรัพย์สินของลูกค้า แต่จำเลยที่ 1 และพนักงานไม่ตรวจตราดูแลให้ดี ทำให้มีคนเข้ามาลักเอารถยนต์ไป จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้เข้าพักในโรงแรม ฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 โต้เถียงบรรยายโดยแจ้งชัดชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว
การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ม. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทระบุเวลาที่รถหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี 2 ฉบับ ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ไม่ตรงกันนั้น น่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของผู้บันทึก ไม่ใช่ ม. แจ้งแตกต่างกัน
การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเฉพาะทรัพย์สินที่สูญหายภายในห้องพัก แต่ลานจอดรถอยู่ด้านนอกโรงแรม และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับฝากรถยนต์ จึงไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ที่จอดไว้นั้น เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 674 และมาตรา 675 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา แม้ความสูญหายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม ก็ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 448,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 440,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 448,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 440,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ตุลาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน กง 9736 นครสวรรค์ ไว้จากนายมนัส มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เริ่มแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงแรมวรบุรี อโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างจำเลยที่ 1 ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และบุคคลภายนอกที่มาใช้บริการโดยส่งพนักงานมาปฏิบัติงานที่โรงแรมของจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 นายมนัสเข้าพักที่โรงแรมของจำเลยที่ 1 เพื่อร่วมในการอบรมสัมมนาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหน่วยงานที่นายมนัสเป็นพนักงาน ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นายมนัสแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน กง 9736 นครสวรรค์ ที่นำมาจอดไว้ในลานจอดรถสูญหายไป หลังจากนั้นนายมนัสไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยาและแจ้งเรื่องให้โจทก์ทราบ โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วอนุมัติการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 440,000 บาท ตามจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยชำระเงินให้แก่นายมนัสเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2549
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายช่วงระยะเวลาที่รถยนต์สูญหายตามลำดับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 นายมนัสนำรถยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถของโรงแรมจำเลยที่ 1 จากนั้นนายมนัสเข้าพักและร่วมการอบรมสัมมนาที่โรงแรมดังกล่าว จนวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา นายมนัสนำกระเป๋าเสื้อผ้าและคอมพิวเตอร์ไปเก็บในรถแล้วปิดล็อกประตู แล้วนายมนัสไปเข้าอบรมต่อ จนเวลา 15 นาฬิกา นายมนัสกลับมาที่รถยนต์ แต่ไม่พบรถยนต์ที่จอดไว้ จึงแจ้งแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยและจำเลยที่ 1 คำฟ้องจึงระบุโดยแจ้งชัดว่า รถยนต์สูญหายในช่วงระหว่างเวลาประมาณ 7 นาฬิกา หลังจากนายมนัสนำของไปเก็บในรถ ถึงเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ที่นายมนัสกลับไปที่รถยนต์อีกครั้ง แต่ไม่พบรถยนต์แล้ว ในส่วนการงดเว้นกระทำการหรือการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา จึงมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลทรัพย์สินของลูกค้า แต่จำเลยที่ 1 และพนักงานไม่ตรวจตราดูแลรถยนต์ของนายมนัส ซึ่งมาเข้าพักและจอดรถไว้ในลานจอดรถของจำเลยที่ 1 ทำให้มีคนเข้ามาในลานจอดรถแล้วลักเอารถยนต์ไป จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้เข้าพักในโรงแรม จำเลยที่ 1 สามารถต่อสู้คดีได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมทำหน้าที่ในการดูแลทรัพย์สินของคนเดินทางที่เข้าพักโดยปฏิบัติอย่างไร ดังที่จำเลยที่ 1 ให้การแล้วว่า จำเลยที่ 1 จ้างจำเลยที่ 2 จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลในโรงแรม รวมถึงบริเวณที่จอดรถ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่จำเลยที่ 1 โต้เถียงบรรยายโดยแจ้งชัดชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายจริงหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายมนัสไม่พบรถยนต์ที่จอดไว้ก็สอบถามจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และแจ้งแก่พนักงานของจำเลยที่ 1 และมีพนักงานของจำเลยที่ 1 ออกมาดูเหตุการณ์ จากนั้นนายมนัสได้แจ้งเหตุไปที่สาขาของโจทก์และไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มาตรวจที่เกิดเหตุและให้นายมนัสนำชี้จุดที่จอดรถยนต์ไว้ ทั้งในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่โจทก์ได้สอบถามจากนายณรงค์ พนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งก็ได้ความว่า เมื่อนายมนัสเลิกสัมมนาแล้วได้มาที่รถ แต่ไม่พบรถยนต์ที่จอดไว้ แต่ในช่วงเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ของวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 นายณรงค์ยังเห็นรถคันดังกล่าวจอดอยู่ ตามพฤติการณ์ของนายมนัสดังที่ได้ความข้างต้นเป็นไปตามปกติวิสัยของผู้ที่รถยนต์สูญหาย ทั้งการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ การไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและการแจ้งเหตุให้โจทก์ทราบ การที่นายมนัสมาเข้าพักในโรงแรมของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อเข้าร่วมการอบรมสัมมนาของหน่วยงาน ย่อมมีบุคคลที่รู้จักกับนายมนัสอยู่ในเหตุการณ์ช่วงที่เสร็จการสัมมนาแล้วนายมนัสจะเดินทางกลับ แต่ไม่พบรถยนต์ที่จอดไว้ หากข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นที่นายมนัสอ้าง ก็น่าจะมีการตรวจสอบและพบเห็นข้อพิรุธได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อพิรุธในการกล่าวอ้างของนายมนัส ที่นายกฤษณะและนายณรงค์ให้ถ้อยคำไว้ตามบันทึกพยาน และบันทึกถ้อยคำ ก็ได้ความตรงกันว่า เมื่อเลิกการสัมมนานายมนัสไม่พบรถยนต์ที่จอดไว้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในทำนองว่า นายมนัสระบุเวลาที่รถหายไม่ตรงกัน โดยในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แจ้งว่า รถยนต์สูญหายเวลาประมาณ 10 ถึง 12 นาฬิกานั้น ปรากฏว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนเป็นผู้บันทึกในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 เพื่อแสดงว่าได้รับคำร้องทุกข์เรื่องนี้เป็นคดี แต่ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งนายมนัสแจ้งเหตุในวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 ระบุว่า เวลา 15 นาฬิกา ผู้แจ้งไปที่รถ พบว่ารถยนต์สูญหายไป ทั้งตามเอกสารในสำนวนการสอบสวนทุกฉบับก็ระบุว่าเกิดเหตุระหว่างเวลาประมาณ 12 ถึง 15 นาฬิกา ระบุเวลาต่างไป จึงน่าจะมาจากความคลาดเคลื่อนของผู้บันทึก มิใช่นายมนัสแจ้งแตกต่างกัน สำหรับชิ้นส่วนที่ตกอยู่ใกล้จุดที่จอดรถยนต์ตามที่ปรากฏการนำชี้ในภาพถ่ายก็เป็นแต่หลักฐานประกอบอีกส่วนหนึ่ง หาใช่เมื่อไม่มีการตรวจสอบชิ้นส่วนดังกล่าวแล้ว จะฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ของนายมนัสสูญหายไป นอกจากข้ออ้างในเรื่องเวลาที่เกิดเหตุดังที่พิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานที่จะแสดงว่า รถยนต์ของนายมนัสไม่ได้สูญหายไปจริง หรือนายมนัสรู้เห็นให้บุคคลใดมานำรถยนต์ออกไป พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไปจากลานจอดรถโรงแรมของจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674 และมาตรา 675 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา แม้ว่าความสูญหายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม ก็ต้องรับผิด ความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรมตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะทรัพย์สินที่คนเดินทางหรือแขกพักอาศัยได้นำเข้าไปในห้องพักหรือตัวอาคารโรงแรมเท่านั้น การที่นายมนัสนำรถยนต์ไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของจำเลยที่ 1 ในระหว่างเข้าพักในโรงแรมแล้วรถยนต์สูญหายไปนั้น ลานจอดรถดังกล่าวจำเลยที่ 1 จัดไว้เพื่อให้บริการแก่คนเดินทางหรือผู้ที่มาเข้าพัก คนเดินทางซึ่งมีรถยนต์เป็นยานพาหนะนำรถยนต์มาจอดไว้ตามปกติ เมื่อรถยนต์สูญหายไปจากลานจอดรถ จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่คนเดินทางได้พามา จำเลยที่ 1 จะโต้เถียงว่าเป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างในการรักษาความปลอดภัยแต่ฝ่ายเดียวหาได้ไม่ เพราะถึงแม้จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้บุคคลอื่นดูแลพื้นที่ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าสำนักโรงแรมที่มีความรับผิดตามกฎหมายอยู่นั่นเอง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า รถยนต์เป็นของมีค่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงจำกัดเพียงห้าพันบาท ตามมาตรา 675 วรรคสองนั้น เห็นว่า รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินทั่วไป ไม่ได้มีลักษณะเป็นของมีค่า อันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับ เงินทองตรา ธนบัตรหรืออัญมณี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 675 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามมูลค่าของรถยนต์ที่สูญหาย มิใช่มีความรับผิดจำกัดจำนวนดังที่อ้างมา สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ชดใช้สูงกว่าความเป็นจริงนั้น เมื่อพิจารณาจากที่นายมนัสเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า ซื้อรถยนต์มาในราคา 700,000 บาทเศษ เมื่อต้นปี 2545 และในขณะเกิดเหตุรถยนต์มีราคาประมาณ 400,000 บาทเศษ ประกอบกับตามบันทึกถ้อยคำ ที่นายมนัสให้ถ้อยคำไว้ว่า รถยนต์ที่สูญหายเป็นรถโตโยต้า สปอร์ตครุยเซอร์ สี่ประตู ขับเคลื่อนสี่ล้อ เครื่องยนต์ 2,500 ซีซี ซื้อมาในราคาประมาณ 758,000 บาท หลังซื้อรถได้ประกันภัยรถยนต์ไว้กับโจทก์โดยตลอด น่าเชื่อว่า การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยซึ่งเป็นมูลค่าของรถยนต์ได้คำนึงถึงอายุการใช้งานและความเสื่อมราคาของรถยนต์อยู่แล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบราคาท้องตลาดของรถยนต์ในขณะสูญหาย ฟังได้ว่า ที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ตามจำนวนเงินเอาประกันภัยเป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ