แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งเก้าร่วมกันออกข้อกำหนดเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดให้ได้รับความเสียหาย แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยทั้งเก้าออกข้อกำหนดเพื่อให้จำเลยทั้งเก้ามีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้บุคคลใดย้ายตามอำเภอใจของจำเลยทั้งเก้า เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งเก้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 และนับโทษจำเลยทั้งเก้าต่อจากโทษของจำเลยทั้งเก้าในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1161/2551 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ส่วนคำขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1และที่ 3 ถึงที่ 9 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนระดับ 8 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ซึ่งสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 จำเลยทั้งเก้า เป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นประธานอนุกรรมการ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นอนุกรรมการ จำเลยทั้งเก้าเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มีหน้าที่บริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับราชการอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วทั้งประเทศแล้วแจ้งให้จำเลยทั้งเก้าทราบ วันที่ 31 กรกฎาคม 2549 จำเลยทั้งเก้ากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาลำพูนเขต 1 แล้วแจ้งให้โจทก์กับข้าราชการในสังกัดทราบและถือปฏิบัติ หลังจากนั้นโจทก์ยื่นเรื่องราวขอย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ลำพูน เนื่องจากผู้อำนวยการคนเดิมเกษียณอายุราชการเป็นเหตุให้มีตำแหน่งว่างลง แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายตามความประสงค์ ในช่วงเวลานั้นมีผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่งในเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 หลายคนมีหนังสือร้องเรียนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด ขอให้คณะกรรมการกำชับให้อนุกรรมการชุดดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดด้วย ในที่สุดเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ซักซ้อมความเข้าใจไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้อย่างชัดเจนแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามให้เป็นแนวทางเดียวกัน อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา หรืออนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่งตั้งขึ้นไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เอง แต่จะสามารถกำหนดรายละเอียดได้เท่าที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามอบหมายให้ทำได้เท่านั้น โจทก์เห็นว่าการที่จำเลยทั้งเก้ากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซ้อนกับหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งเก้าเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งเก้าร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเหล่านั้นที่ประสงค์จะขอย้ายต้องทำรายละเอียดแนวทางในการปฏิบัติงาน หรือพัฒนางานในตำแหน่งที่ขอย้ายไปดำรงตำแหน่งใหม่โดยกำหนดเป็นคะแนน 20 คะแนน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ย้าย อันเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อให้จำเลยทั้งเก้ามีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาคนใดย้ายหรือไม่ย้ายได้ตามอำเภอใจของจำเลยทั้งเก้า ทั้งที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ได้มอบหมายให้จำเลยทั้งเก้ามีอำนาจออกข้อกำหนดเช่นว่านั้นได้ เป็นเหตุให้โจทก์ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการพิจารณาให้ย้ายตามสิทธิ ส่งผลให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่า จำเลยทั้งเก้าร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยไม่มีอำนาจ ทั้งเป็นการวางหลักเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นเพื่อให้จำเลยทั้งเก้าใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายได้ตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงความเดือดร้อนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด เป็นเหตุให้โจทก์ขาดคุณสมบัติที่จะย้ายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จำเลยทั้งเก้ากำหนด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งเก้าร่วมกันออกข้อกำหนดเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์หรือ ผู้หนึ่งผู้ใดให้ได้รับความเสียหาย แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยทั้งเก้าออกข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อให้จำเลยทั้งเก้ามีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้บุคคลใดย้ายตามอำเภอใจของจำเลยทั้งเก้า เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งเก้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่น ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งเก้าร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยปราศจากอำนาจ อันเป็นการวางระเบียบขึ้นใช้บังคับโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้จำเลยทั้งเก้าสามารถใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ตามอำเภอใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มิได้อาศัยแต่การที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายเป็นบทบัญญัติให้ต้องรับผิด แต่ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ หาใช่ว่าเมื่อเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้วต้องเป็นความผิดตามมาตรานี้เสมอไปไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งเก้าร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 โดยให้มีรายละเอียดในการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาทั้งที่จำเลยทั้งเก้าไม่มีอำนาจกระทำได้ แต่เมื่อนำแนวทางในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งเก้ากำหนดขึ้นใหม่มาเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดแล้ว เห็นว่า มีข้อแตกต่างกันไม่มากนัก ดังจะเห็นได้ว่าตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จำเลยทั้งเก้ากำหนด ยังคงยึดถือเอาผลงานย้อนหลังสามปี ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิหรือวิชาเอก ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานการศึกษาปัจจุบัน ระยะเวลาที่เริ่มรับราชการจนถึงปัจจุบัน การรักษาวินัยและการรักษาจรรยาบรรณ ความยากลำบากในการปฏิบัติงานในหน่วยงานการศึกษาและเหตุผลในการขอย้ายเป็นสำคัญ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวส่วนใหญ่สอดคล้องกับที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดมา แม้หลักเกณฑ์ที่จำเลยทั้งเก้ากำหนดไว้จะขาดหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้รวมสามข้อ เป็นต้นว่า ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไปยังสถานศึกษาในช่วงชั้นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน หากจะย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะ ก็ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาเฉพาะด้วยกัน ทั้งนี้ให้คำนึงถึงขนาดของสถานศึกษาที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันและที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่งใหม่ว่าควรเป็นสถานศึกษาขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันด้วยแต่หลักเกณฑ์สามข้อที่ว่านี้หาใช่ข้อบังคับโดยเด็ดขาดไม่ เพราะวรรคสุดท้ายของข้อ 6. ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นต้องแต่งตั้งบุคคลให้ไปดำรงตำแหน่งซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั้งสามข้อนั้น ให้อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประเมินศักยภาพของบุคคลและผลการปฏิบัติงานด้านบริหารสถานศึกษา และแนวทางพัฒนาสถานศึกษาที่จะขอรับแต่งตั้งเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วย อย่างไรก็ดี แม้จำเลยทั้งเก้ากำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแตกต่างไปจากที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด แต่จำเลยทั้งเก้าได้แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายให้โจทก์กับข้าราชการครูและบุคลากรในสังกัดทราบโดยทั่วกันทั้งได้ความจากโจทก์ว่า การที่โจทก์ขอย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ลำพูนในครั้งนี้ มีผู้ขอย้ายไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวหลายคนด้วยกัน จำเลยทั้งเก้าต่างใช้หลักเกณฑ์ที่จำเลยทั้งเก้ากำหนดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาทุกรายเป็นเหตุให้โจทก์ได้คะแนนเป็นอันดับที่สองเท่ากับผู้อำนวยการโรงเรียนอื่นอีกหลายรายแม้กระนั้นก็ตามโจทก์เองก็เบิกความรับว่า แม้โจทก์ไม่ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ลำพูน โจทก์ก็ไม่ได้เสียสิทธิแต่ประการใด เพียงแต่เสียเกียรติยศที่ไม่ได้ย้ายไปประจำที่โรงเรียนประจำจังหวัดลำพูนเท่านั้น เห็นว่า แม้หลักเกณฑ์ในการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จำเลยทั้งเก้ากำหนดขึ้นจะแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ก็ตามแต่พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งเก้าแจ้งหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้โจทก์กับข้าราชการในสังกัดทราบโดยทั่วกัน ทั้งยังใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเช่นว่านั้นในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและผู้บริหารสถานศึกษาทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งเก้ามิได้มีเจตนาเอื้อประโยชน์หรือกีดกันบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ แม้จะส่งผลให้โจทก์ไม่ได้รับการพิจารณาย้ายตามที่โจทก์ประสงค์ การกระทำของจำเลยทั้งเก้าก็ไม่เป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามที่โจทก์ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน