แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในปี 2534 และ 2535 โจทก์สั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากบริษัท น. ประเทศนอร์เวย์บริษัทฮ. ประเทศสวีเดนบริษัท ฟ.เมืองฮ่องกงและบริษัทอ.ประเทศนอร์เวย์หลายครั้ง โดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรระหว่างวันที่24 กุมภาพันธ์ 2534 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2535 การนำเข้าสินค้าดังกล่าว โจทก์จะชำระราคาสินค้าภายใน 270 วัน และ180 วัน นับแต่วันส่งมอบสินค้าพร้อมกับชำระเงินเพิ่มจากราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่ผู้ขายอีกในอัตราร้อยละ 10.8 ของราคาสินค้า นับแต่วันส่งมอบสินค้าถึงวันชำระราคา ตามที่ระบุในใบกำกับสินค้าโจทก์ชำระเงินเพิ่มจากราคาสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศดังกล่าวในระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534ถึง 31 ธันวาคม 2534 เป็นเงิน 6,648,075.74 บาท และในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 เป็นเงิน112,548,706.04 บาท เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ที่บริษัทผู้ขายได้รับจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 29)พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้ว จึงเป็นเงินได้ที่มีลักษณะ ทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าสินค้าตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนดอกเบี้ยอันเกิดจากการผ่อนปรนการชำระราคาสินค้านั้น แม้ดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่ได้เกิดจากการที่โจทก์กู้ยืมเงินจากผู้ขาย มิได้เกิดจากพันธบัตร หุ้นกู้หรือตั๋วเงินก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิที่จะชำระราคาทันทีโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามข้อตกลง แต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเช่นว่านี้โจทก์ยินดีรับสิทธิการผ่อนปรนการชำระราคาโดยเสียดอกเบี้ยดังนั้นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจึงเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก)แห่งประมวลรัษฎากรเช่นกัน โจทก์จ่ายเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(4)(ก) ให้แก่ผู้ขายซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยอันเป็นการจ่ายจากประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวและนำส่งอำเภอท้องที่ พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.7/1142/2/100198, ต.7/1142/2/100199,ต.7/1142/2/100241 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 471ก/2539/1 และ 471ข/2539/1 กับให้งดหรือลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ หากเห็นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีใด ๆ
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า เงินที่โจทก์ส่งให้แก่บริษัทผู้ขายในต่างประเทศซึ่งมิได้ประกอบกิจการของประเทศไทย เนื่องจากชำระราคาสินค้าสำหรับระยะเวลา 270 วัน และ 180 วัน ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534ถึง 31 ธันวาคม 2534 เป็นเงิน 6,648,075.74 บาท และในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 เป็นเงิน112,548,716.04 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ในปัญหานี้ประมวลรัษฎากรมาตรา 40ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ ประเภทต่อไปนี้ ฯลฯ
(4) เงินได้ที่เป็น
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูก หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอนรวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม” เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าในปี 2534 และ 2535 โจทก์สั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากบริษัทนอสไฮโดร จำกัด ประเทศนอร์เวย์บริษัทไฮโดรซุปรา จำกัด ประเทศสวีเดน บริษัทนอสไฮโดร(ฟาร์อีสต์) จำกัด เมืองฮ่องกง และบริษัทนอสไฮโดอากรี อินเตอร์เนชั่นแนล ออสโล จำกัด ประเทศนอร์เวย์หลายครั้ง โดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2535 การนำเข้าสินค้าดังกล่าวโจทก์จะชำระราคาสินค้าภายใน 270 วัน และ 180 วันนับแต่วันส่งมอบสินค้าพร้อมกับชำระเงินเพิ่มจากราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่ผู้ขายอีกในอัตราร้อยละ 10.8 ของราคาสินค้านับแต่วันส่งมอบสินค้าถึงวันชำระราคา ตามที่ระบุในใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17 ถึง 102 โจทก์ชำระเงินเพิ่มจากราคาสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศดังกล่าวในระหว่างวันที่7 พฤศจิกายน 2534 ถึง 31 ธันวาคม 2534 เป็นเงิน6,648,075.74 บาท และในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2535 เป็นเงิน 112,548,706.04 บาท เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ที่บริษัทผู้ขายได้รับจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้ว จึงเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆที่ได้จากสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าสินค้าตามมาตรา 40(4)(ก)แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าดอกเบี้ยอันเกิดจากการผ่อนปรนการชำระราคาสินค้าไม่ใช่ดอกเบี้ยอันเกิดจากพันธบัตรเงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วเงินหรือเงินกู้ยืมแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าดอกเบี้ยดังกล่าวแม้จะไม่ได้เกิดจากการที่โจทก์กู้ยืมเงินจากผู้ขาย มิได้เกิดจากพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงินกู้ก็ตามแต่เมื่อโจทก์มีสิทธิที่จะชำระราคาทันทีโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามข้อตกลง แต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเช่นว่านี้โจทก์ยินดีรับสิทธิการผ่อนปรนการชำระราคาโดยเสียดอกเบี้ย ดังนั้นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจึงเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ยเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อสุดท้ายมีว่าโจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้พึงประเมิน ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ในปัญหานี้ประมวลรัษฎากรมาตรา 70 วรรคหนึ่ง เดิมซึ่งมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม2534 บัญญัติว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามวิธีการและอัตราดังต่อไปนี้แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นำมาตรา 54มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 70 วรรคหนึ่งใหม่ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 มาตรา 24 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่าย จากหรือในประเทศไทยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นำมาตรา 54มาใช้บังคับโดยอนุโลม” เห็นว่า เมื่อฟังว่าโจทก์จ่ายเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก) ให้แก่ผู้ขายซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยอันเป็นการจ่ายจากประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวและนำส่งอำเภอท้องที่ พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
พิพากษายืน