แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่3ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่1ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมโดยระบุว่าจำเลยที่3ยินยอมให้จำเลยที่1คู่สมรสของจำเลยที่3ทำนิติกรรมทุกอย่างกับโจทก์ได้จึงถือได้ว่าจำเลยที่3ได้ร่วมรับรู้หนี้ที่จำเลยที่1ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญากู้เงินและจำเลยที่3ได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวหนี้ตามสัญญากู้เงินจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่3ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1490(4)จำเลยที่1และจำเลยที่3จึงต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน90,000 บาท โดยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ19 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 36 เดือน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินดังกล่าวกับโจทก์นั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมใด ๆ กับโจทก์ได้อันเป็นการให้สัตยาบันและถือว่าเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ทั้งหมดให้โจทก์ โดยยังคงเป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 83,015.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 54,958.69 บาท รวมเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนทั้งสิ้น 137,974.42 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 137,947.42 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 83,015.73 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 137,974.42 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19 ต่อปีของต้นเงิน 83,015.73 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจำนวน90,000 บาท จากโจทก์โดยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ตกลงผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายเดือนทุกวันที่ 15 ของเดือน เป็นเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 3,300 บาท โดยจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 36เดือน หรือภายในวันที่ 15 มกราคม 2538 ในการกู้เงินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1คู่สมรสของจำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมทุกอย่างกับโจทก์ได้ หลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาจำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินจำนวน 83,015.73 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 54,958.69 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระถึงวันฟ้องทั้งสิ้นจำนวน137,974.42 บาท
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยเพียงข้อเดียวตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอม โดยระบุว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 1คู่สมรสของจำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมทุกอย่างกับโจทก์ได้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมรับรู้หนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญากู้เงิน และจำเลยที่ 3 ได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าว หนี้ตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4)ซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 137,974.42 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน83,015.73 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ