คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3354/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า “หากพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยหรือฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้ปฏิบัติ พนักงานผู้นั้นจะต้องได้รับโทษทางวินัย อย่างไรก็ดี ก่อนการสั่งลงโทษผู้บังคับบัญชาอาจสั่งพักงานเพื่อการสอบสวนก็ได้ โดยในระหว่างพักงานให้งดจ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยการพักงานกรณีนี้ให้กระทำเฉพาะพักงานเพื่อการสอบสวนเท่านั้น มิให้พักงานเพื่อรอผลคดี ซึ่งการพักงานเพื่อการสอบสวนนี้มิใช่เป็นการพักงานเพื่อการลงโทษ” เห็นได้ว่า การพักงานเพื่อการสอบสวนตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดว่าลูกจ้างผู้ถูกพักงานได้กระทำความผิดตามที่ถูกสอบสวนหรือไม่ ทั้งการพักงานดังกล่าวมิใช่เป็นการลงโทษ แม้ระหว่างการพักงานนายจ้างมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่ระหว่างการพักงานเป็นเพียงนายจ้างให้ลูกจ้างผู้นั้นหยุดงานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น สภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป ดังนี้ หากการสอบสวนปรากฏว่าลูกจ้างผู้นั้นมิได้กระทำความผิด นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างผู้นั้นไม่ได้และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างการพักงานให้แก่ลูกจ้าง
จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง จำเลยย่อมมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 575 จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อการสอบสวน เป็นกรณีที่จำเลยมิให้โจทก์ทำงาน ดังนี้การที่โจทก์มิได้ทำงานให้จำเลยจึงมิใช่เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหาได้ไม่

Share