คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บทบัญญัติในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯกำหนดห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่ สัญญาจ้างแรงงานจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่านั้น ก็มุ่งหมายที่จะป้องกันมิให้นายจ้างหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำไว้และลูกจ้างที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้รวมถึงลูกจ้างที่เข้าทำงานภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้วด้วย ส่วนที่มาตรา 19 วรรคแรกบัญญัติว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันเฉพาะผู้ที่ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องหรือมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาด้วยนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ที่เป็นลูกจ้างอยู่แล้ว หารวมถึงผู้เข้าเป็น ลูกจ้างในภายหลังซึ่งไม่มีโอกาสลงชื่อด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย สหภาพแรงงานลูกจ้างของจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ประจำปีแก่ลูกจ้างทุกคน และจำเลยได้ปรับค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างของจำเลยทุกคน ครั้นโจทก์เข้าทำงาน จำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้เสียภาษีเงินได้โดยจำเลยหักภาษีนั้นไว้ ณ ที่จ่าย เป็นการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขัดกับข้อตกลงเดิมที่มีผลใช้บังคับอยู่แล้ว และจำเลยไม่จ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขอศาลพิพากษาให้จำเลยยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ที่ทำไว้กับโจทก์ให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมที่มีอยู่แล้ว และให้จำเลยจ่ายภาษีเงินได้กับค่าครองชีพพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกันว่าให้โจทก์เป็นผู้เสียภาษีเองไม่ขัดต่อกฎหมาย มีผลผูกพันโจทก์จำเลย ข้อตกลงที่จำเลยเป็นผู้เสียภาษีให้ลูกจ้างมีผลผูกพันระหว่างจำเลยกับลูกจ้างที่มีอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงเท่านั้น หามีผลผูกพันโจทก์ที่เข้ามาทำงานกับจำเลยภายหลังไม่ประกาศของจำเลยที่เพิ่มค่าครองชีพให้แก่พนักงาน จำเลยให้เฉพาะพนักงานที่จำเลยเห็นสมควรเท่านั้น ไม่ได้ผูกพันจำเลยที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างใหม่ที่จำเลยจ้างเข้ามาภายหลังทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว และตามสัญญาจ้างระบุว่าโจทก์จะเป็นผู้เสียภาษีเงินได้เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยเสียภาษีเงินได้แทนส่วนเรื่องค่าครองชีพก็ปรากฏว่าโจทก์เข้าทำงานภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างประกาศใช้ โดยตามสัญญาจ้างระบุให้นายจ้างมีสิทธิที่จะพิจารณาจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่รับเข้าใหม่ตามที่เห็นสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าครองชีพจากจำเลยได้เช่นเดียวกัน พิพากษายกฟ้องโจทก์

ผู้พิพากษาสมทบทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินตามที่โจทก์ฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 20 บัญญัติว่า “เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้วห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า” บทบัญญัติมาตรานี้มุ่งหมายที่จะป้องกันมิให้นายจ้างหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำไว้ โดยทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างเป็นรายบุคคลให้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเสีย สำหรับลูกจ้างที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้ถ้อยคำตามตัวบทมาได้จำกัดว่าจะต้องเป็นลูกจ้างอยู่แล้วขณะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไม่ เมื่อคำนึงถึงว่าการที่นายจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ ยินยอมให้สิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ แก่ลูกจ้าง แสดงอยู่ในตัวว่าสิทธิและประโยชน์นั้น ๆ เป็นสิทธิและประโยชน์อันสมควรและเป็นธรรมที่ลูกจ้างในกิจการนั้นพึงได้รับ กฎหมายแรงงานย่อมประสงค์ที่จะคุ้มครองให้ลูกจ้างที่เข้าเป็นลูกจ้างในภายหลังได้รับสิทธิหรือประโยชน์อันสมควรและเป็นธรรมนั้นด้วย ทั้งการให้ลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ได้รับสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เป็นลูกจ้างอยู่แล้วตั้งแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับนั้น ยังมีผลทำให้ลูกจ้างทุกคนได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างเสมอหน้ากัน อันเป็นความเป็นธรรมตามความมุ่งหมายของกฎหมายแรงงานอีกประการหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นว่าลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้รวมถึงลูกจ้างที่เข้าทำงานภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้วด้วย ส่วนที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันเฉพาะผู้ที่ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องหรือมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจานั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับลูกจ้างที่เป็นลูกจ้างอยู่แล้วโดยเฉพาะ หารวมถึงลูกจ้างซึ่งเข้าเป็นลูกจ้างในภายหลังซึ่งไม่มีโอกาสลงชื่อในข้อเรียกร้องหรือมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนด้วยไม่ กรณีคดีนี้จำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ว่าจะเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ประจำปีแทนลูกจ้าง และจะจ่ายเงินค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว การที่จำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้เสียภาษีเงินได้เอง และให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะพิจารณาเห็นสมควร จึงเป็นการขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและไม่เป็นคุณแก่โจทก์ สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวในข้อที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้เอง และให้จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าครองชีพแก่โจทก์ จึงทำขึ้นโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 20 ตกเป็นโมฆะโดยชัดแจ้งเมื่อจำเลยได้หักภาษีเงินได้ของโจทก์และไม่จ่ายเงินค่าครองชีพแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีนั้นแก่โจทก์และจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ อย่างไรก็ดีที่โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยในเงินค่าภาษีเงินได้และค่าครองชีพตั้งแต่วันผิดนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด โจทก์จึงชอบที่จะได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเท่านั้น

พิพากษากลับว่า สัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยทำไว้กับโจทก์เฉพาะข้อที่ให้โจทก์เป็นผู้เสียภาษีเงินได้เอง และข้อที่ให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ไม่มีผลบังคับ ให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องดังกล่าวที่มีอยู่เดิม ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีเงินได้ที่หักไว้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share