คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12355/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติถึงสัดส่วนกรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งให้มีจำนวนมากกว่ากรรมการอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน 1 คน ในกรณีที่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเกิน 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ดังนี้สัดส่วนของคณะกรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งมีจำนวนเพียงใดต้องพิจารณาคุณสมบัติของสหภาพแรงงานแต่ละรายไป ไม่อาจนำจำนวนสมาชิกของหลายสหภาพแรงงานมารวมคำนวณสัดส่วนของกรรมการลูกจ้าง
จำเลยมีลูกจ้างประมาณ 1,500 คน โจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงานมาลาพลาสซึ่งมีสมาชิกประมาณ 24 คน อันเป็นสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด สหภาพแรงงานมาลาพลาสจึงนำจำนวนสมาชิกของตนไปรวมกับจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานอื่นเพื่อให้มีจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานเกิน 1 ใน 5 แล้วแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างให้มีจำนวนมากกว่ากรรมการอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานมาลาพลาส 1 คน ไม่ได้ จำเลยใช้สิทธิตรวจสอบจำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานไปยังพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 45 วรรคสาม ที่บัญญัติให้นำมาตรา 15 วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้รับคำตอบจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการว่าการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างของสหภาพแรงงานทั้ง 4 สหภาพแรงงาน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับที่ประชุมสหภาพแรงงานทั้ง 4 สหภาพแรงงาน มีมติแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างตามลำดับของกรรมการสหภาพแรงงานที่ถูกนายจ้างเกลียดชังมากที่สุด เป็นการลงมติโดยไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โจทก์จึงไม่เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานโดยชอบ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและให้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานโดยชอบหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติมาแล้วว่ากรรมการลูกจ้างทั้ง 8 คน ที่สหภาพแรงงานทั้ง 4 สหภาพแรงงาน ร่วมกันมีมติแต่งตั้งขึ้นเป็นสมาชิกและกรรมการของแต่ละสหภาพแรงงานแตกต่างกันไป กรณีจึงเป็นการที่สหภาพแรงงานทั้ง 4 สหภาพแรงงาน นำสิทธิในการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างมารวมหรือแบ่งกัน ซึ่งไม่มีกฎหมายรับรองให้กระทำได้โดยชอบ เพราะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติถึงสัดส่วนของกรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งให้มีจำนวนมากกว่ากรรมการอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน 1 คน ในกรณีที่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นเกิน 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ดังนี้สัดส่วนของกรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งมีจำนวนเพียงใดก็ต้องพิจารณาคุณสมบัติของสหภาพแรงงานแต่ละรายไป ไม่อาจนำจำนวนสมาชิกของหลายสหภาพแรงงานมารวมคำนวณสัดส่วนของกรรมการลูกจ้างปรากฏตามหนังสือของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 27 มกราคม 2555 เอกสารหมาย ล.6 และคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 155-157/2555 ลงวันที่ 19 เมษายน 2555 เอกสารหมาย ล.9 ซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องว่าจำเลยมีลูกจ้างประมาณ 1,500 คน และโจทก์ในฐานะผู้กล่าวหาที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ตามเอกสารหมาย ล.9 นำสืบในชั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงานมาลาพลาส สหภาพแรงงานนั้นมีสมาชิกประมาณ 24 คน อันเป็นสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด สหภาพแรงงานมาลาพลาสจึงนำจำนวนสมาชิกของตนไปรวมกับจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานอื่นเพื่อมีจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานเกิน 1 ใน 5 แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างให้มีจำนวนมากกว่ากรรมการอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานมาลาพลาส 1 คน ไม่ได้ นอกจากนี้ตามมาตรา 45 วรรคสาม ที่ให้นำมาตรา 15 วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างตามวรรคสองโดยอนุโลม เป็นการให้สิทธิจำเลยในฐานะนายจ้างยื่นคำร้องให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองว่าสหภาพแรงงานที่แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างมีจำนวนลูกจ้างเป็นสมาชิกครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาด้วยว่าจำเลยใช้สิทธิดังกล่าวตรวจสอบและได้คำตอบจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการแล้วว่าการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างของสหภาพแรงงานทั้ง 4 สหภาพแรงงาน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับที่ศาลแรงงานกลางฟังยุติมาว่า การลงมติแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างตามลำดับของกรรมการสหภาพแรงงานที่ถูกนายจ้างเกลียดมากที่สุด เป็นการลงมติโดยไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โจทก์จึงไม่เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานโดยชอบ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้เหตุผลในการพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share