คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12353/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งเป็นหนังสือของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งไม่นำส่งเงินสมทบหรือเงินเพิ่ม หรือนำส่งจำนวนไม่ครบ อันเป็นการสั่งตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ก่อนตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง
แม้ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2548 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 วรรคสาม ข้อ 35 จะกำหนดว่าในกรณีที่มีคำสั่งอายัดเงิน ผู้ต้องส่งเงินตามคำสั่งอายัดจะปฏิเสธไม่ส่งมอบเงินหรือต้องการโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตนให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมตามแบบคำร้องท้ายระเบียบนี้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้นก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ที่จะต้องส่งเงินตามคำสั่งอายัดที่จะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งอายัดเงินนั้นหรือไม่ก็ได้ และภายใต้กฎเกณฑ์เช่นไร ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการฟ้องคดี จึงยกมาเป็นข้อตัดอำนาจโจทก์ไม่ให้ฟ้องคดีไม่ได้
เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่กรณีที่มีบทบัญญัติให้ต้องร้องเรียกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยคำสั่งเลขที่ 114/2554 ลงวันที่ 4 เมษายน 2554 และหนังสืออายัดทรัพย์สินที่ รง 0607/5298 ลงวันที่ 5 เมษายน 2554 และหนังสือายัดทรัพย์สินที่ รง 0607/5299 ลงวันที่ 4 เมษายน 2554 และคำสั่งใด ๆ ของจำเลยทั้งสองที่เกี่ยวกับการอายัดเงินของโจทก์ทุกฉบับ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน185,710.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองและจำเลยที่ 2 หรือไม่และคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2553 โจทก์มีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 หลังจากนั้นโจทก์ไม่เคยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติมให้จำเลยทั้งสองพิจารณาแต่อย่างใด แต่มาฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งงดการไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เลขาธิการมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งไม่นำส่งเงินสมทบและหรือเงินเพิ่มหรือนำส่งไม่ครบจำนวนตามมาตรา 49 ทั้งนี้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้รับเงินที่ค้างชำระ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ออกคำสั่งที่ 114/2554 อายัดเงินตามบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว เป็นจำนวนไม่เกินวงเงิน 174,603 บาทอ้างว่าโจทก์ไม่นำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแก่กองทุนประกันสังคมแล้วมีหนังสือที่ รง 0607/5299 แจ้งอายัดเงิน 174,603 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเต็มตามวงเงินในคำสั่งที่ 114/2554 และอายัดเงินอีก 11,107.80 บาท อันเป็นจำนวนมากกว่าที่ระบุในคำสั่งที่ 114/2554 อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและหนังสือแจ้งอายัด คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องร้องกรณีนายจ้างไม่พอใจในคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่สั่งตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ก่อนตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง แม้ตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ. 2548 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 วรรคสาม ข้อ 35 จะกำหนดว่าในกรณีที่มีคำสั่งอายัดเงิน ผู้ที่จะต้องส่งเงินตามคำสั่งอายัดจะปฏิเสธไม่ส่งมอบเงินหรือต้องการโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตน ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อเลขาธิการตามแบบคำร้องท้ายระเบียบนี้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ที่จะต้องส่งเงินตามคำสั่งอายัดที่จะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งอายัดเงินนั้นหรือไม่ก็ได้ และภายใต้หลักเกณฑ์เช่นไร ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการฟ้องคดี จึงไม่อาจยกเอาระเบียบดังกล่าวมาเป็นข้อตัดอำนาจโจทก์ไม่ให้ฟ้องคดีได้ ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์มิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาลตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวหรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 2 ที่ 114/2554 และหนังสือแจ้งอายัดทรัพย์สินที่ รง 0607/5299 หรือไม่ เพียงใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยทั้งสองประเด็นนี้เสียก่อน
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยทั้งสองประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนยังไม่พอแก่การวินิจฉัยก็ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

Share