คำวินิจฉัยที่ 91/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่จำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยร่วมกับจำเลยที่ ๒ นำรังวัดและชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง โจทก์คัดค้านแต่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้โจทก์ไปใช้สิทธิทางศาล ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยยกเลิกคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๑/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสีคิ้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสีคิ้วโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ นางกล้วย แฝกโคกสูง โจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกราด ที่ ๑ นางสายฝน ทูลแรง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๓๘/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตั้งอยู่ที่บ้านชัยมงคล หมู่ที่ ๑๗ ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๒ ไร่ ๘๕ ตารางวา ได้รับการให้จากมารดาเมื่อประมาณ ๔๐ ปี แล้ว และทำประโยชน์ต่อเนื่องตลอดมา โดยมีเจตนาเป็นเจ้าของและไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือรบกวนการครอบครอง ต่อมา สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุนทด มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ แจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (แปลงฝายจานสี) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการรังวัดในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ ให้โจทก์ไปรังวัดชี้และลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน และในวันดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านบ้านชัยมงคล หมู่ที่ ๑๗ ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา นำรังวัดและชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง โจทก์จึงคัดค้านการรังวัด และได้ยื่นคำร้องคัดค้านการรังวัดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุนทด มีคำสั่งให้โจทก์ไปใช้สิทธิทางศาลภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คัดค้าน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยยกเลิกคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ (แปลงฝายจานสี) ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน แต่โจทก์ได้เข้าไปบุกรุกยึดถือ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยสุจริต เพื่อดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิได้กลั่นแกล้ง ละเมิด และรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสีคิ้วพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และการระวังชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำตามคำสั่งของนายอำเภอด่านขุนทด อันเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และเพิกถอนคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้ง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและร่วมกับจำเลยที่ ๒ นำรังวัดและชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา ๑๖ (๒๗) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ข้อ ๖ วรรคหนึ่ง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบกับมาตรา ๘ ตรี วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายที่ดิน และข้อ ๑ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นที่จะพิจารณาว่า การขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การนำรังวัดและการชี้ระวังแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ของจำเลยทั้งสอง เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้ ซึ่งตามมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รวมเนื้อที่ ๒ ไร่ ๘๕ ตารางวา ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุนทด มีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยร่วมกับจำเลยที่ ๒ นำรังวัดและชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง โจทก์คัดค้านแต่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้โจทก์ไปใช้สิทธิทางศาล ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ให้จำเลยยกเลิกคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางกล้วย แฝกโคกสูง โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกราด ที่ ๑ นางสายฝน ทูลแรง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share