แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยในคดีล้มละลายซึ่งมีอำนาจรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอ้างว่า จำเลยซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และบันทึกข้อตกลง เรื่อง โอนชำระหนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 กับโจทก์ โดยฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ที่ให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และห้ามมิให้จำเลยเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยเว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างตามปกติตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 การโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 70108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ และมีผลให้ผู้คัดค้านซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เนื่องจากนิติกรรมที่จำเลยโอนให้แก่โจทก์เป็นโมฆะกรรมไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์และไม่มีสิทธิโอนให้แก่ผู้คัดค้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องว่ากล่าวตามอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องในคดีล้มละลาย มิใช่ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพราะมิใช่เรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลซึ่งคำร้องนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตา 246, 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยินยอมชำระเงิน 3,848,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 70108 ตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 หมู่ที่ 9 ตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 21846 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตีราคาชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์โจทก์จำนวน 2,255,000 บาท ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้ถือว่ามูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้และหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ที่โจทก์ตั้งเบิกกับจำเลย แต่จำเลยยังไม่ได้ออกใบนัดให้มารับเงินจำนวน 521,582 บาท เป็นอันระงับสิ้นไป หากจำเลยไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย โดยค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนโจทก์เป็นผู้ออกทั้งสิ้น หากไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ไม่ว่าด้วยประการใด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีเอากับจำเลยได้ตามจำนวนหนี้ดังกล่าว และวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 โจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลง เรื่อง โอนชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2551 โจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 70108 ตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 หมู่ที่ 9 ตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ให้แก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้พิพากษาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ นิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ และการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้คัดค้าน ตกเป็นโมฆะ ให้โจทก์และผู้คัดค้านไปดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาท หากเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา กรณีไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้โจทก์กับผู้คัดค้านร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,848,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำสั่งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับจำเลย ฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 70108 ตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 ระหว่างจำเลยกับโจทก์ และระหว่างโจทก์กับผู้คัดค้าน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์และผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 70108 ตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะ โดยไม่เพิกถอนกระบวนพิจารณาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยในคดีล้มละลายซึ่งมีอำนาจรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอ้างว่า จำเลยซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และบันทึกข้อตกลง เรื่อง โอนชำระหนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 กับโจทก์ โดยฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ที่ให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และห้ามมิให้จำเลยเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยเว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างตามปกติ ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 การโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 70108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ และมีผลให้ผู้คัดค้านซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22 ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เนื่องจากนิติกรรมที่จำเลยโอนให้แก่โจทก์เป็นโมฆะกรรมไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์และไม่มีสิทธิโอนให้แก่ผู้คัดค้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องว่ากล่าวตามอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องในคดีล้มละลาย มิใช่ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพราะมิใช่เรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลซึ่งคำร้องนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตา 246, 247 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และผู้คัดค้าน
พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น และยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ