คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์คือมีผู้ลักและปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับแล้วนำไปเบิกเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารจำเลยพนักงานของจำเลยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่แล้วจ่ายเงินไปทำให้โจทก์เสียหายจำเลยให้การปฏิเสธเฉพาะความประมาทเลินเล่อเท่านั้นส่วนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับปลอมหรือไม่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ทั้งได้ให้การว่าโจทก์ให้บุคคลภายนอกเลียนแบบลายมือชื่อโจทก์ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นลายมือชื่อปลอมดังนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องนำเจ้าพนักงานผู้ทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาเบิกความรับรองผลการตรวจพิสูจน์อีก การที่โจทก์เก็บรักษาเช็คไว้ในลิ้นชักที่มีกุญแจใส่อยู่ในบ้านและลูกกุญแจแขวนไว้ใต้โต๊ะทำงานเป็นการเก็บรักษาเช็คดังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำตามปกติธรรมดาถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อการที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปแม้จะอ้างว่าไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นลายมือชื่อปลอมไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์จำเลยจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1008ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2532 มีคนร้ายลักเอาเช็คธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สาขากาญจนบุรี ซึ่งเป็นของโจทก์ไปจำนวน 2 ฉบับ คือเช็คเลขที่ 964371 และ 964380 ต่อมาคนร้ายได้นำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินรวมเป็นเงิน 420,000 บาท โดยปลอมลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่ได้ตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่ เพราะเขียนผิดไปจากลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลย การที่จำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2532ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 31,062.50 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 451,062.50 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวนเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 420,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ในการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่นำมาขอรับเงินนั้น จำเลยได้ตรวจสอบแล้ว เห็นว่ารายการในเช็คทั้งสองฉบับถูกต้องสมบูรณ์ ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน จำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่อ การที่เช็คพิพาทถูกลักนั้นเป็นเพราะโจทก์เก็บสมุดเช็คไว้ในที่ไม่ปลอดภัยอันเป็นความผิดของโจทก์เอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ให้บุคคลภายนอกเลียนแบบลายมือชื่อโจทก์แล้วนำมาเบิกเงินอันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นเงิน240,000 บาท ฉบับที่ 2 เป็นเงิน 180,000 บาท นำไปเบิกเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารจำเลยสาขากาญจนบุรี ในวันที่22 กันยายน 2532 และในวันที่ 25 กันยายน 2532 ตามลำดับจำเลยได้จ่ายเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไป ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกามีว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้เงินที่มีผู้มาเบิกเงินไปคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยหรือไม่เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยก่อนว่า โจทก์ไม่ได้นำเจ้าพนักงานผู้ทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมาเบิกความรับรองผลการตรวจพิสูจน์ตามเอกสารหมาย จ.8 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อปลอมไม่ได้นั้นเห็นว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์คือมีผู้ลักและปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับแล้วนำไปเบิกเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารจำเลยพนักงานของจำเลยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่ แล้วจ่ายเงินไปทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธความประมาทเลินเล่อเท่านั้น ส่วนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับปลอมหรือไม่ จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ทั้งได้ให้การว่าโจทก์ให้บุคคลภายนอกเลียนแบบลายมือชื่อโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องนำเจ้าพนักงานผู้ทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาเบิกความรับรองผลการตรวจพิสูจน์ตามเอกสารหมาย จ.8 อีก
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1008 เพราะโจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็คหรือไม่เห็นว่า การที่โจทก์เก็บรักษาเช็คไว้ในลิ้นชักที่มีกุญแจใส่อยู่ในบ้านและลูกกุญแจแขวนไว้ใต้โต๊ะทำงานเป็นการเก็บรักษาเช็คดังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำตามปกติธรรมดา ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปแม้จะอ้างว่าไม่ได้ประมาทเลินเล่อ แต่เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นลายมือชื่อปลอมไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ จำเลยจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 ทั้งศาลฎีกาได้เปรียบเทียบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 กับลายมือชื่อโจทก์ตามตัวอย่างที่ให้ไว้แก่จำเลยเอกสารหมาย จ.2 แม้พิจารณาโดยผิวเผินจะมีส่วนคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วจะเห็นได้ไม่ยากว่าคุณสมบัติในการเขียนและรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกันในข้อนี้นายไตรภูมิ ธนนาทธนชนพยานจำเลยซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นสมุห์บัญชีของจำเลย สาขากาญจนบุรี และเป็นผู้ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ก็เบิกความว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 มีลักษณะผอมกว่าลายมือชื่อโจทก์ตามตัวอย่างเอกสารหมาย จ.2 และนางสาวยุพิน ประเสริฐกุลพยานจำเลยอีกปากหนึ่งซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้ช่วยหัวหน้าการเงินของจำเลย สาขากาญจนบุรีและเป็นผู้ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 เบิกความว่านางสาวยุพินมีหน้าที่ตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ศาลฎีกาเห็นว่านายไตรภูมิและนางสาวยุพินปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบลายมือชื่อลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อลูกค้ามากกว่าคนธรรมดา หากนายไตรภูมิและนางสาวยุพินได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยละเอียดรอบคอบตรวจสอบลายมือชื่อตามสมควรก็ต้องทราบว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม การที่บุคคลทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแต่ละฉบับคืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยได้หักเงินจากบัญชีของโจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่25 กันยายน 2532 จึงให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยเพียงเท่าที่โจทก์ขอ
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 420,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 20 กันยายน 2533) ต้องไม่เกิน 31,062.50 บาท

Share