แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 – 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 – 7411 นครปฐม โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427, 820
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,268,661 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 1,268,661 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 268,611 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 พฤษภาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 7,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง จำนวน 968,661 บาท โดยให้จำเลยที่ 7 จำกัดความรับผิดในจำนวน 200,000 บาท จำเลยที่ 8 จำกัดความรับผิดในจำนวน 80,000 บาท จำเลยที่ 9 จำกัดความรับผิดในจำนวน 100,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 รับผิดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 พฤษภาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งเก้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลเป็นเงิน 12,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 9 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าจำเลยที่ 9 มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพียงใด เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใด ศาลมีอำนาจที่จะวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 หรือหากฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 หรือในกรณีที่มีบุคคลอื่นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องก่อให้เกิดความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร แต่ที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าสิบโทเสริมศักดิ์มีส่วนผิดเนื่องจากขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว จำเลยที่ 2 หาได้ยกข้อเท็จจริงใดในสำนวนขึ้นมาอ้างอิงให้เห็นว่าสิบโทเสริมศักดิ์ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว โดยมีพยานปากใดเบิกความไว้ว่าอย่างไรหรือมีพยานเอกสารใดสนับสนุนไม่ จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดในอันที่จะให้ศาลฎีการับฟังว่าสิบโทเสริมศักดิ์มีส่วนผิดและลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนลงดังจำเลยที่ 2 ฎีกาได้ กับไม่มีบทบัญญัติใดให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 นำเงินที่ต้องชำระตามสัญญาประกันภัยไปมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อจำเลยที่ 2 จะนำไปเป็นทุนสำรองในการจ่ายค่าเลี้ยงดูโจทก์ที่ 2 ได้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินก้อนเดียว 900,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 – 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 – 7411 นครปฐม ตามสำเนาหนังสือแสดงรายการจดทะเบียนรถ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427, 820 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 9 ที่ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายศศิพงษ์กับจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 9 สมดังคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 คาดคะเนเอง และมูลเหตุในคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ 9 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วยนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หาได้คาดคะเนเองดังที่จำเลยที่ 9 ฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 9 ฎีกาว่า จำเลยที่ 9 ไม่อาจเห็นด้วยกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 2เป็นจำนวนเดียว 900,000 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดเหมาะสมแล้ว ขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โดยยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากำหนดให้จำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 73 – 7235 กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่กำหนดค่าเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยสูงสุด 100,000 บาท ต่อคน ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเดียว 900,000 บาท ก็ตาม แต่ก็ได้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 9 ในจำนวน 100,000 บาท ไม่เกินวงเงินความรับผิดตามสัญญาประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 9 มิได้ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยที่ 9 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามสัญญาประกันภัย หรือต้องร่วมรับผิดน้อยกว่าวงเงิน 100,000 บาท ด้วยเหตุผลในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในข้อไหนอย่างไร จำเลยที่ 9 ย่อมไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัยในวงเงิน 100,000 บาท ไปได้เลย ฎีกาของจำเลยที่ 9 ที่กล่าวถึงจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูว่าศาลชั้นต้นกำหนดเหมาะสมแล้ว แต่กลับขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โดยยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อันเท่ากับขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 9 โดยจำเลยที่ 9 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามสัญญาประกันภัยด้วย เป็นข้อที่มิได้ชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 9 ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ