แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 นอกจากผู้กระทำความผิดต้องมีอายุเกินกว่าสิบหกปีแล้วยังต้องได้ความว่า ผู้นั้นดำรงชีพอยู่ได้โดยอาศัยรายได้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากหญิงค้าประเวณี ส่วนกรณีใดที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีต้องเป็นไปตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 286 วรรคสอง จำเลยเป็นเจ้าของสถานค้าประเวณีโดยมีสุราอาหารและเครื่องดื่มบริการขายแก่ลูกค้าด้วย และมีหญิงค้าประเวณีประมาณ 8 คน กินอยู่หลับนอนกับจำเลยในสถานที่ดังกล่าวแม้พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องได้รับเงินเป็นผลกำไรจาก การค้าประเวณีเช่นว่านั้น ก็เป็นไปในลักษณะที่จำเลยหารายได้จากการดำเนินกิจการค้าประเวณีซึ่งมีหญิงโสเภณีเป็นองค์ประกอบในการดำเนินกิจการของจำเลย รายได้ ของจำเลยจึงได้จากลูกค้าหรือแขกที่มาเที่ยวหาใช่ได้จากหญิงซึ่งค้าประเวณีโดยตรงไม่ และแม้จำเลยจะไม่มีรายได้ จากกิจการค้าประเวณีแต่จำเลยก็ยังสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการอาศัยสามีหรือบุตรได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอื่นหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ การที่ มีหญิงซึ่งค้าประเวณีมาอาศัยกินอยู่หลับนอนในสถานค้าประเวณีของจำเลย แม้จำเลยจะกินอยู่หลับนอนในสถานดังกล่าวด้วยจำเลยก็ไม่ใช่เป็นผู้กินอยู่หลับนอนหรือรับเงินหรือประโยชน์อื่นโดยหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 286 วรรคสอง(2) การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 225, 286, 291, 91 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีพ.ศ. 2503 มาตรา 8, 10
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8, 10 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 10 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ความผิดตามมาตรา 286นอกจากผู้กระทำต้องมีอายุเกินกว่าสิบหกปีแล้วยังต้องได้ความว่า ผู้นั้นดำรงชีพอยู่ได้โดยอาศัยรายได้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากหญิงค้าประเวณี ส่วนกรณีใดที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ต้องเป็นไปตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 286 วรรคสอง ดังต่อไปนี้คือผู้ใดไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพและ
(1) ปรากฏว่าอยู่ร่วมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีหรือสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณ
(2) กินอยู่หลับนอนหรือรับเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นโดยหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้
(3) ฯลฯ
การที่จำเลยเป็นเจ้าของสถานค้าประเวณีโดยมีสุราอาหารและเครื่องดื่มบริการขายแก่ลูกค้าด้วย และมีหญิงค้าประเวณีประมาณ 8 คน กินอยู่หลับนอนกับจำเลยในสถานที่ดังกล่าวแม้พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องได้รับเงินเป็นผลกำไรจากการค้าประเวณีเช่นว่านั้น ก็เป็นไปในลักษณะที่จำเลยหารายได้จากการดำเนินกิจการค้าประเวณีซึ่งมีหญิงโสเภณีเป็นองค์ประกอบในการดำเนินกิจการของจำเลยรายได้ของจำเลยจึงได้จากลูกค้าหรือแขกที่มาเที่ยวหาใช่ได้จากหญิงซึ่งค้าประเวณีโดยตรงไม่ ทั้งจำเลยเป็นหญิงมีสามีซึ่งสามีประกอบอาชีพทำบ่อเลี้ยงกุ้งและยังมีบุตรอีก 4 คนต่างโตเป็นผู้ใหญ่แยกครอบครัวไปแล้ว แม้จำเลยจะไม่มีรายได้จากกิจการค้าประเวณีก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการอาศัยสามีหรือบุตรได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอื่นหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีเห็นได้ว่าหญิงซึ่งค้าประเวณีมาอาศัยกินอยู่หลับนอนในสถานค้าประเวณีของจำเลย แม้จำเลยจะกินอยู่หลับนอนในสถานดังกล่าวด้วย จำเลยก็ไม่ใช่เป็นผู้กินอยู่หลับนอนหรือรับเงินหรือประโยชน์อื่นโดยหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 286 วรรคสอง(2) การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286 จำเลยไม่มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน