แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 (ฉบับเดิม) ว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยตกลงปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2555 จำเลยกับสหภาพแรงงานของลูกจ้างโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานประชุมและตกลงเป็นหนังสือว่าให้จำเลยแบ่งทยอยปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 3 ช่วง แทนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างให้คราวเดียวตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่สมาชิก และกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม เมื่อสหภาพแรงงานกระทำไปโดยไม่ได้แจ้งให้สมาชิกทราบและไม่ได้เรียกประชุมสมาชิกก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่เห็นด้วย ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานกระทำไปโดยมติที่ประชุมใหญ่และเป็นการกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (1) และมาตรา 103 (2) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 19 จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้องโดยไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามมาตรา 20 ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยต้องถือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม
เงินที่โจทก์ทั้งสามสิบสี่มีสิทธิที่จะได้รับเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนทวงถามจึงถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ย่อยาว
รายชื่อโจทก์ทั้งสามสิบสี่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เว้นแต่นางบุญเรือน โจทก์ที่ 13 ที่ถูกเป็น นางบุญเรืองหรือบุญเรือน โจทก์ที่ 13 นางสาวชฏาภรณ์ โจทก์ที่ 14 ที่ถูกเป็น นางสาวชฎาภรณ์หรือชฏาภรณ์ โจทก์ที่ 14
คดีทั้งสามสิบสี่สำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 711/2556, 712/2556 และ 713/2556 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสิบสี่สำนวนกับโจทก์ในคดีดังกล่าวเรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 37 แต่คดีที่รวมสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วโดยการถอนฟ้องและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสามสิบสี่สำนวนนี้
โจทก์ทั้งสามสิบสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสามสิบสี่ ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งสามสิบสี่เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ขณะรัฐบาล (ที่ถูกเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง) ได้ประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท ในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ทำงานโดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 โจทก์ทั้งสามสิบสี่กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมิได้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับไว้ ในเรื่องการปรับค่าจ้างว่า ในกรณีที่รัฐบาลมีประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยตกลงปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 จำเลยกับสหภาพแรงงานนิวโจโฮคุซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของลูกจ้างจำเลยได้ประชุมเกี่ยวกับเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างและได้ตกลงในเรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือว่าจะปรับเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้างเป็นระบบขั้นบันได 3 ครั้ง สำหรับลูกจ้างที่เงินเดือนไม่ถึง 10,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จะปรับเพิ่มให้วันละ 40 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จะปรับเพิ่มให้วันละ 30 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าปริมาณการทำงานต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 12 เปอร์เซ็นต์บวกลบ 1 เปอร์เซ็นต์ จะบวกลบ 1 บาท และจะพิจารณาว่าทำได้ตามที่กำหนดหรือไม่ในเดือนตุลาคม 2555 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 จะปรับเพิ่มให้วันละ 15 บาท ในส่วนลูกจ้างที่เงินเดือนตั้งแต่ 10,351 บาท ขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จะปรับเพิ่มให้วันละ 30 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จะปรับเพิ่มให้วันละ 20 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าปริมาณการทำงานต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 12 เปอร์เซ็นต์ บวกลบ 1 เปอร์เซ็นต์ จะบวกลบ 1 บาท และจะพิจารณาว่าทำได้ตามที่กำหนดหรือไม่ในเดือนตุลาคม 2555 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 จะปรับเพิ่มให้วันละ 20 บาท และลูกจ้างทุกคนรวมโจทก์ทั้งสามสิบสี่ได้รับการทยอยปรับค่าจ้างระบบขั้นบันไดตามที่ได้ตกลงเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 แล้วจนถึงปัจจุบัน แล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 มิได้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับไว้จึงมีผลใช้บังคับ 1 ปี นับแต่วันที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกัน แต่เมื่อครบ 1 ปี มิได้มีการตกลงเจรจากันใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี เมื่อคณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นเงินวันละ 300 บาท ในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ทำงาน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จำเลยและสหภาพแรงงานนิวโจโฮคุโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนลูกจ้างทุกคนได้ตกลงเป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 6 เมษายน 2555 ว่า ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้างเป็นระบบขั้นบันได ทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อลูกจ้างทุกคนรวมโจทก์ทั้งสามสิบสี่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 6 เมษายน 2555 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบสี่ว่า โจทก์ทั้งสามสิบสี่มีสิทธิได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มจากที่ได้รับการปรับขึ้นไปแล้วตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามที่ระบุในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางฟังและที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ขณะคณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท ในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จำเลยกับลูกจ้างของจำเลยจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า ในกรณีที่รัฐบาลมีประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยตกลงปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยจัดทำขึ้นตามข้อเรียกร้องของลูกจ้าง ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 จำเลยกับสหภาพแรงงานนิวโจโฮคุซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของลูกจ้างโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานประชุมเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างของลูกจ้างที่มีการประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว และได้ตกลงเป็นหนังสือว่า จำเลยไม่อาจปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในอัตราตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่มีจำนวนเป็นเงินวันละ 85 บาท ในคราวเดียวได้ จึงตกลงให้แบ่งทยอยปรับขึ้นค่าจ้างในลักษณะขั้นบันได 3 ครั้ง ลูกจ้างจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 6 เมษายน 2555 แล้ว แต่การดำเนินการของสหภาพแรงงานนิวโจโฮคุที่ไปประชุมตกลงกับจำเลยเรื่องการทยอยปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ไม่ได้แจ้งแก่สมาชิกทราบและไม่ได้เรียกประชุมสมาชิกก่อน ซึ่งต่อมาโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่เห็นด้วย เมื่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (1) และมาตรา 103 (2) กำหนดไว้ว่าการดำเนินการของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งการดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมจะกระทำการได้ก็แต่โดยมติที่ประชุมใหญ่ การที่สหภาพแรงงานนิวโจโฮคุโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานไปเจรจาทำความตกลงกับจำเลยเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 แล้วยินยอมให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างโดยแบ่งทยอยปรับขึ้นเป็น 3 ช่วง มิได้ปรับขึ้นให้ในคราวเดียวกัน ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 นั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สมาชิก แต่กระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม เมื่อไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานกระทำการไปโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 ถึงมาตรา 19 แต่อย่างใด การที่จำเลยทยอยปรับขึ้นค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามสิบสี่ตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 6 เมษายน 2555 ทำให้โจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างทันทีในคราวเดียว จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากข้อเรียกร้องที่มีผลใช้บังคับอยู่ และทำให้โจทก์ทั้งสามสิบสี่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นจำนวนน้อยกว่าอัตราตามที่กำหนดในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมอันไม่เป็นคุณตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 จึงไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยต้องถือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้องและมีผลใช้บังคับอยู่ขณะนั้นคือฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 โดยต้องปรับขึ้นค่าจ้างเป็นจำนวนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมคืออัตราวันละ 215 บาท ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2553 กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่คืออัตราวันละ 300 บาท ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งผลต่างเป็นจำนวนเงินวันละ 85 บาท และต้องปรับค่าจ้างให้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เมื่อจำเลยได้ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสี่ตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 6 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าตามจำนวนอัตราที่ระบุในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนั้นจำเลยจึงต้องปรับขึ้นค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามสิบสี่เพิ่มจากที่ได้รับการปรับขึ้นไปแล้วตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามที่ระบุในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2556 ตามคำขอของโจทก์แต่ละคน ดังนั้นโจทก์ทั้งสามสิบสี่ จึงมีสิทธิได้รับเงินที่จะปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าว ทั้งนี้หากจำเลยจ่ายเงินที่จะปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงดังกล่าว ตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 6 เมษายน 2555 ให้โจทก์ทั้งสามสิบสี่ไปแล้วบางส่วนเท่าใด ก็ให้นำมาหักออกเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบสี่ฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับที่โจทก์ทั้งสามสิบสี่ขอดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดนั้น เห็นว่า เงินที่โจทก์ทั้งสามสิบสี่มีสิทธิที่จะได้รับอันเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เงินดังกล่าวยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนทวงถามให้จำเลยจ่ายเงินที่จะได้จากการปรับอัตราค่าจ้างส่วนที่ขาดวันใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินที่จะปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราวันละ 85 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2556 แก่โจทก์ทั้งสามสิบสี่ หากจำเลยจ่ายเงินที่จะปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ไปแล้วบางส่วนเท่าใดก็ให้นำมาหักออกเท่านั้น แล้วจ่ายส่วนที่ขาดแก่โจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 พฤษภาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามสิบสี่