แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้ป้ายข้อความยินดีรับบัตร SYNERGY โลโก้ESSOและเครื่องหมายลูกศรบอกทางเข้าซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์จะอยู่ในกรอบพลาสติกนูนแยกขอบเขตของแต่ละป้ายได้ แต่ก็อยู่ในโครงเหล็กแผ่นเดียวกันถือว่าเป็นป้ายแผ่นเดียวกัน โจทก์ทำขึ้นเพื่อเชิญชวนลูกค้าซึ่งเป็นสมาชิกบัตร SYNERGY เข้าใช้บริการของโจทก์ จึงเป็นการใช้ป้ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโฆษณาและหารายได้ ถือว่าเป็นป้ายตามคำนิยามศัพท์ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ต้องเสียภาษีป้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายเลขที่ สค 52202/1964 ลงวันที่ 20 กันยายน 2543 และเลขที่ สค 52202 ลงวันที่ 4 ตุลาคม2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2543 กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 18,276 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระต้นเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินภาษีป้ายและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถูกต้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มตามหนังสือเลขที่ สค 52202/1964 ลงวันที่ 20 กันยายน 2543 และหนังสือเลขที่สค 52202 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2543 ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ของจำเลยที่ 2 เฉพาะป้ายที่มีข้อความว่า”ESSO” “เอสโซ่ ESSO” “เอสโซ่ ESSO ได้ฟรี มีลุ้นกับเอสโซ่เทอร์โบสปีด” “เติมหัวใจใส่หัวจ่ายภาพเสือ ESSO” “เติมเอสโซ่ 300 บาทขึ้นไป ด้วยบัตรไดเนอร์สคลับรับฟรีโพสต์อิทโน้ท 15 พ.ค. 2543 – 15 ส.ค. 2543” “ประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ขอมอบประกาศนียบัตรฉบับนี้ไว้เพื่อแสดงว่าสถานีบริการไทยซี – เซ็นเตอร์ (อ้อมน้อย)— ESSO” และ “ซูพรีม 95 ซูพรีม 91 ดีเซล” ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีป้ายจำนวน 17,556 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ป้ายที่มีข้อความว่า “ยินดีรับบัตร SYNERGY โลโก้ ESSO และเครื่องหมายลูกศรบอกทางเข้า” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์นั้นเป็นป้ายอันต้องเสียภาษีตามขนาดของป้ายโดยถือเอาความกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของขอบเขตป้าย ตามที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ป้ายเครื่องหมายลูกศรบอกทางเข้าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์สามารถแยกส่วนกันได้อย่างชัดเจนกับป้ายที่มีข้อความว่ายินดีรับบัตร SYNERGY โลโก้ ESSO โดยแต่ละป้ายอยู่ในกรอบพลาสติกนูนแยกขอบเขตแต่ละป้ายอย่างชัดเจน ปรากฏตามภาพถ่ายหมายจ.1 แผ่นที่ 15 ถึงแม้ป้ายทั้งสองดังกล่าวจะอยู่ภายในโครงเหล็กเดียวกัน แต่ก็อยู่คนละกรอบหรือช่อง จึงมิใช่ป้ายเดียวกัน หากถอดป้ายเครื่องหมายลูกศรบอกทางเข้าทิ้งไปก็ไม่ทำให้ป้ายยินดีรับบัตรเสียหายหรือขาดใจความแต่อย่างใด ดังนั้น ป้ายเครื่องหมายลูกศรบอกทางเข้า จึงไม่มีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับป้ายยินดีรับบัตร SYNERGYโลโก้ ESSO และไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 เนื่องจากป้ายเครื่องหมายลูกศรบอกทางเข้ามิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อโฆษณาหรือหารายได้ เป็นเพียงป้ายบอกเส้นทางจราจรเท่านั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ป้าย” หมายความว่า ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น” ดังนั้นแม้ป้ายข้อความยินดีรับบัตร SYNERGY โลโก้ ESSO และเครื่องหมายลูกศรบอกทางเข้าซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์จะอยู่ในกรอบพลาสติกนูน แยกขอบเขตของแต่ละป้ายได้ แต่ก็อยู่ในโครงเหล็กแผ่นเดียวกัน ถือว่าเป็นป้ายแผ่นเดียวกันโดยป้ายดังกล่าวโจทก์ทำขึ้นเพื่อเชิญชวนลูกค้าซึ่งเป็นสมาชิกบัตร SYNERGY เข้าใช้บริการของโจทก์ จึงเป็นการใช้ป้ายดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโฆษณาและหารายได้ถือเป็นป้ายตามคำนิยามศัพท์ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 อันต้องเสียภาษีป้ายตามขนาดของป้าย โดยคำนวณตามความกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของขอบเขตป้าย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน