แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าการที่ พ. ไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้เพราะโจทก์มีคำสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากการกระทำผิดวินัยก่อนจำเลยทำสัญญาค้ำประกันนั้นเมื่อปรากฏตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศในสัญญาข้อ 5 มีข้อความว่า “เมื่อข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาแล้วก็ดีหรือการศึกษาของข้าพเจ้าต้องยุติลงด้วยประการใด ๆก็ดี ข้าพเจ้าสัญญาว่า จะกลับมาปฏิบัติราชการตามคำสั่งของทางราชการทันที ฯลฯ” และ ข้อ 7 มีข้อความว่า “ถ้าข้าพเจ้าผิดสัญญาข้อ 5ข้าพเจ้ายินยอมชดใช้เงินแก่กรมการศึกษานอกโรงเรียน ดังต่อไปนี้ก.ถ้าข้าพเจ้าไม่กลับเข้าปฏิบัติราชการเลย ข้าพเจ้ายอมชดใช้เงินทุน หรือเงินเดือนทั้งหมด ฯลฯ” เห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของสัญญาข้อ 5 และ 7 มีความมุ่งหมายว่าหาก พ.สำเร็จการศึกษาหรือการศึกษายุติลงด้วยประการใด ๆ แล้ว พ. ไม่ยอมกลับเข้ารับราชการตามคำสั่งจึงจะถือว่าผิดสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้สั่งให้ พ.ออกจากราชการจึงไม่ใช่กรณีที่พ.ไม่ยอมกลับเข้ารับราชการตามคำสั่ง ตามสัญญาในข้อ 9 ที่มีข้อความว่า “ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อ หรือในระหว่างที่ข้าพเจ้ากลับเข้าปฏิบัติราชการต่อไปตามที่กล่าวในข้อ 5 ข้าพเจ้าประพฤติผิดวินัยจนถึงถูกไล่ออก ปลดออก หรือออกจากราชการข้าพเจ้ายินยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับ” นั้น มุ่งหมายถึง ความประพฤติของ พ. นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป มิได้มุ่งหมายถึงความประพฤติในอดีตแต่อย่างใดการที่โจทก์สั่งให้ พ. ออกจากราชการ ก็เนื่องเพราะความประพฤติผิดวินัยของ พ. ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญา ดังนั้นจึงไม่อาจถือได้ว่า พ.ผิดสัญญาดังกล่าวเมื่อพ. ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน พ. จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2529 นายพิรุณศาสตร์ กมลลานนท์ซึ่งขณะนั้นรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 3 สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยภูมิกองปฏิบัติการของโจทก์ ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาไปศึกษาต่อภายในประเทศระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสารมิตร มีกำหนด 2 ปี โดยได้รับเงินเดือนจากโจทก์ตลอดเวลา ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2529นายพิรุณศาสตร์ได้ทำสัญญาให้ไว้ต่อโจทก์ว่า หากการศึกษาต้องยุติด้วยประการใด ๆ ก็ดี สัญญาว่าจะกลับเข้าปฏิบัติราชการตามคำสั่งของทางราชการทันทีโดยจะปฏิบัติราชการต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า2 เท่าของเวลาที่รับเงินเดือน ระหว่างไปศึกษาต่อ และหากผิดสัญญาไม่กลับเข้าปฏิบัติราชการเลยยินยอมชดใช้เงินเดือนทั้งหมดและเงินอื่นใดที่รับไประหว่างที่ศึกษาต่อและเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินที่ต้องใช้ หากไม่ชำระภายในกำหนด นับแต่วันได้รับแจ้งจากโจทก์ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี และเมื่อวันที่10 มิถุนายน 2529 จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของนายพิรุณศาสตร์ไว้ต่อโจทก์ว่า ถ้านายพิรุณศาสตร์ผิดสัญญาดังกล่าวไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใด จำเลยยินยอมชดใช้เงินตามข้อผูกพันที่ระบุไว้ในสัญญาแก่โจทก์ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้นายพิรุณศาสตร์ชำระหนี้ก่อน นายพิรุณศาสตร์ได้ไปศึกษาต่อตามที่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2529 โดยได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ 2,905 บาท พร้อมเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท จากโจทก์ตลอดมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน2529 โจทก์ได้มีคำสั่งที่ 893/2529 ให้นายพิรุณศาสตร์ออกจากราชการฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งต่อมานายพิรุณศาสตร์ได้ถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัยเนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญามหาบัณฑิต พ.ศ. 2522การที่นายพิรุณศาสตร์ถูกโจทก์มีคำสั่งลงโทษให้ออกจากราชการไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้ตามสัญญาถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ ดังนั้นนายพิรุณศาสตร์จะต้องรับผิดตามสัญญาใช้คืนซึ่งเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพ นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อ คือวันที่ 15 กันยายน 2529 เป็นเงินจำนวน10,764 บาท พร้อมค่าปรับอีกหนึ่งเท่า รวมเป็นเงินที่นายพิรุณศาสตร์จะต้องชดใช้แก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 21,528 บาท โจทก์ทวงถามให้นายพิรุณศาสตร์ชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2529 แต่นายพิรุณศาสตร์เพิกเฉย จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชอบใช้เงินจำนวน 21,568 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน2529 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 15 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย3,564.70 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 25,092.70 บาท
จำเลยให้การว่า ความผิดที่นายพิรุณศาสตร์ กมลลานนท์ ได้กระทำจนเป็นเหตุให้โจทก์ลงโทษทางวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงให้ออกจากราชการนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2525 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2525 ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนวันที่โจทก์ได้อนุญาตให้นายพิรุณศาสตร์ลาไปศึกษาต่อและก่อนวันที่นายพิรุณศาสตร์ทำสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ การที่โจทก์ได้สั่งลงโทษนายพิรุณศาสตร์ให้ออกจากราชการอันเป็นผลให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรได้คัดชื่อนายพิรุณศาสตร์ออกจากมหาวิทยาลัยซึ่งทำให้การศึกษายุติลง เช่นนี้จะถือว่านายพิรุณศาสตร์ปฏิบัติผิดสัญญาไม่ได้ เพราะเมื่อการศึกษายุติลงนายพิรุณศาสตร์ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาคือกลับเข้าปฏิบัติราชการตามคำสั่งของทางราชการทันที แต่ก็ไม่สามารถกระทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้เนื่องจากโจทก์ได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้ว การที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาได้จึงเกิดจากความผิดของโจทก์เอง นายพิรุณศาสตร์ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนโจทก์ ดังนั้นเมื่อนายพิรุณศาสตร์ไม่ได้ผิดสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ได้ผิดสัญญาค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนให้โจทก์ด้วยขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยาน คู่ความร่วมกันแถลงว่าโจทก์จำเลยมีความประสงค์ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นว่า นายพิรุณศาสตร์ผิดสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศหรือไม่ ถ้านายพิรุณศาสตร์ผิดสัญญา จำเลยยอมรับผิดตามฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านายพิรุณศาสตร์ผิดสัญญาพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 25,092.70 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ ข้อ 5 มีข้อความว่า “เมื่อข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาแล้วก็ดี หรือการศึกษาของข้าพเจ้าต้องยุติลงด้วยประการใด ๆ ก็ดีข้าพเจ้าสัญญาว่า จะกลับเข้าปฏิบัติราชการตามคำสั่งของทางราชการทันที ฯลฯ และข้อ 7 มีข้อความว่า “ถ้าข้าพเจ้าผิดสัญญาข้อ 5ข้าพเจ้ายินยอมใช้เงินแก่กรมการศึกษานอกโรงเรียนดังต่อไปนี้ ก.ก. ถ้าข้าพเจ้าไม่กลับเข้าปฏิบัติราชการเลยข้าพเจ้ายอมชดใช้เงินทุนและหรือเงินเดือนทั้งหมด ฯลฯ” เห็นว่าวัตถุประสงค์ของสัญญา2 ข้อนี้มีความมุ่งหมายว่า ถ้าหากนายพิรุณศาสตร์สำเร็จการศึกษาหรือการศึกษายุติลงด้วยประการใด ๆ แล้ว นายพิรุณศาสตร์ไม่ยอมกลับเข้ารับราชการตามคำสั่ง จึงจะถือว่าผิดสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มิใช่กรณีที่นายพิรุณศาสตร์ไม่ยอมกลับเข้ารับราชการตามคำสั่ง หากแต่โจทก์สั่งให้ออกจากราชการ และตามสัญญาดังกล่าวข้อ 9 มีข้อความว่า “ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อ หรือในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ากลับเข้าปฏิบัติราชการต่อไปตามที่กล่าวในข้อ 5 ถ้าข้าพเจ้าประพฤติผิดวินัยจนถูกไล่ออก ปลดออก หรือออกจากราชการ ข้าพเจ้ายินยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับ ฯลฯ” ตามสัญญาข้อนี้มุ่งหมายถึงความประพฤติของนายพิรุณศาสตร์นับตั้งแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 3 มิถุนายน 2529เป็นต้นไปมิได้มุ่งหมายถึงความประพฤติในอดีตแต่อย่างใด การที่นายพิรุณศาสตร์ถูกลงโทษให้ออกจากราชการเพราะประพฤติผิดวินัยตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้นายพิรุณศาสตร์ไม่อาจจะรับราชการต่อไปได้ เช่นนี้ยังฟังไม่ได้ว่านายพิรุณศาสตร์ผิดสัญญาดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
พิพากษายืน