คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13083/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังกล่าวต่อไปนี้… (7) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท” และมาตรา 93 บัญญัติว่า “บริษัทใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่” การที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนหาลูกค้า และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานขายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จ่ายเงินเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 ไปก่อน จึงขัดต่อบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 782,469.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 734,476.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 734,476.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 23 กันยายน 2554) ต้องไม่เกิน 47,388.85 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจประกันชีวิตทุกประเภท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนหาลูกค้าที่สนใจเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับโจทก์ 25 คน และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานขาย 5 คน โดยมีเป้าหมายสำหรับเบี้ยประกันภัยในปีแรกระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 เป็นเงิน 4,000,000 บาท โจทก์จ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 1 ล่วงหน้า 800,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวได้จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามส่วน สัญญาดังกล่าวมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามสัญญา จำเลยที่ 1 สามารถดำเนินการให้โจทก์ได้รับเบี้ยประกันภัยเพียง 300,717 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามคืนเงินที่ได้รับไปตามส่วนเป็นเงิน 734,476.90 บาท แล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (6) และ (7) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังกล่าวต่อไปนี้…(7) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท” และมาตรา 93 บัญญัติว่า “บริษัทใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่” ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ได้จ่ายค่าตอบแทนหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาครบถ้วนบริบูรณ์แล้วนั้น เมื่อได้พิเคราะห์รายละเอียดในคำฟ้องของโจทก์มีข้อความระบุไว้ชัดเจนในหน้าที่ 3 ว่า โจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ล่วงหน้าจำนวน 800,000 บาท อีกทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าหลังจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาบริการดังกล่าวโจทก์ได้จ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท เป็นค่าตอบแทนล่วงหน้าแล้ว จึงเห็นได้ว่าข้ออ้างของโจทก์ในฎีกาซึ่งขัดแย้งกับคำฟ้องและข้อนำสืบของโจทก์เองจึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 มิใช่จ่ายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาครบถ้วนบริบูรณ์แล้วดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ดังนี้ การที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนหาลูกค้า และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานขายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จ่ายเงินเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 ไปก่อน จึงขัดต่อพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 ประกอบมาตรา 93 กรณีถือได้ว่าโจทก์กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share