คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12994/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 1 ไร่ 49 ตารางวา โดยเจ้าหน้าที่กองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพยานจำเลยเบิกความว่า การรังวัดที่ดินครั้งแรกได้เนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา เป็นการรังวัดเนื้อที่โดยประมาณยังไม่เด็ดขาดจนกว่าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน จนกระทั่งเมื่อทราบเนื้อที่จริงจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำบันทึกข้อตกลงอีกครั้ง และปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อตกลงยินยอมที่จำเลยจัดทำขึ้นมีรายการระบุว่า ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนขอสงวนสิทธิอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้มารับเงินค่าทดแทน ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าการแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินครั้งหลังจำเลยรับรู้ถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์จำนวนเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แม้โจทก์ไม่ได้ไปทำบันทึกข้อตกลง แต่ยื่นอุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนก่อนถึงกำหนดวันนัดหมาย โดยกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยยังได้มีหนังสือถึงโจทก์ตอบรับการอุทธรณ์ค่าทดแทนแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี หากโจทก์ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 60 วัน จึงถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเพียงการแจ้งจำนวนที่ดินจากการรังวัดทางคณิตศาสตร์โดยไม่มีการเพิ่มเติมจำนวนที่ดินผิดไปจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
การที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 (3) บัญญัติให้ถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินเป็นข้อที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดจำนวนค่าทดแทนจากการเวนคืน จึงเป็นกรณีที่ต้องใช้เกณฑ์ราคาประเมินที่ดินในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับแก่กรณี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพิ่มจำนวน 294 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 4,800 บาท คิดเป็นเงิน 1,411,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 529,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ถึงแก่ความตาย นายอภิพัฒน์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังยุติได้ว่า โจทก์และนายสวัสดิ์เป็นเจ้าของร่วมที่ดินโฉนดเลขที่ 7191 ตำบลบางพูด (ห้วยโกลน) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา โดยโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมจำนวน 600 ตารางวา ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอคลองหลวง อำเภอสามโคก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พ.ศ.2531 ใช้บังคับเพื่อสร้างและขยายทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3309 สายแยกทางหลวงหมายเลข 308 (บางปะอิน) – ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ตอนแยกทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3186 – ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ และแยกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน เป็นเหตุให้ที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 200 บาท หรือไร่ละ 80,000 บาท โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินตามที่กำหนดเป็นเขตทางหลวง ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ที่แท้จริง 1 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ไร่ 49 ตารางวา โดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 200 บาท หรือไร่ละ 80,000 บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์จำนวนเงินค่าเวนคืนตามมติคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับแจ้งให้รับเงินค่าทดแทนครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลนั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า หลังจากจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนครั้งแรกคิดเป็นที่ดินเนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา ที่จำเลยนำไปวางทรัพย์ไว้ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี และโจทก์ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับเงินจำนวนดังกล่าว ต่อมาในปี 2540 กรมที่ดินได้รังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกเป็นเขตทางหลวงปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแท้จริงมีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา เกินไปกว่าจำนวนที่จำเลยแจ้งโจทก์ให้ไปรับเงินครั้งแรกอีก 1 ไร่ 49 ตารางวา ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2541 จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนตามจำนวนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ไม่ได้ไปพบเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามวันที่ระบุไว้แต่ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กระทรวงคมนาคมในวันที่ 10 กันยายน 2541 ก่อนจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2541 เห็นว่า นอกจากจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 1 ไร่ 49 ตารางวา จากเนื้อที่เดิม 2 งาน 53 ตารางวา โดยได้ความตามที่นายวิศิษฐ์ เจ้าหน้าที่กองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพยานจำเลยเบิกความว่า การรังวัดที่ดินครั้งแรกได้เนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา เป็นการรังวัดเนื้อที่โดยประมาณยังไม่เด็ดขาดจนกว่าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน จนกระทั่งเมื่อทราบเนื้อที่จริงจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำบันทึกข้อตกลงอีกครั้ง แต่โจทก์ไม่ไปพบเพื่อทำข้อตกลงตามที่นัดหมายไว้ ดังนี้ เมื่อปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อตกลงยินยอม ข้อ 2.4 ที่จำเลยจัดทำขึ้นมีรายการระบุว่า ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนขอสงวนสิทธิอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้มารับเงินค่าทดแทน อันเป็นกรณีที่จำเลยรับรู้ถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์จำนวนเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แม้โจทก์ไม่ได้ไปทำบันทึกข้อตกลง แต่ยื่นอุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนในวันที่ 10 กันยายน 2541 ก่อนถึงกำหนดวันนัดหมาย โดยกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยยังได้มีหนังสือถึงโจทก์ตอบรับการอุทธรณ์ค่าทดแทนแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี หากโจทก์ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 60 วัน จึงถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์การกำหนด ค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 30 กันยายน 2542 ภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเพียงการแจ้งจำนวนที่ดินจากการรังวัดทางคณิตศาสตร์โดยไม่มีการเพิ่มเติมจำนวนที่ดินผิดไปจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปว่าค่าทดแทนที่ดินที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การกำหนดค่าทดแทนเวนคืนโดยพิจารณาจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.2531 ถึง 2533 อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเวนคืน เป็นการกำหนดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 (1) ถึง (5) ไม่อาจใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.2541 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นได้ชัดแจ้งว่าในช่วงเวลาที่มีการเวนคืนมีการซื้อขายที่ดินในราคาเพียงใดนั้น เห็นว่า การที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 (3) บัญญัติให้ถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินเป็นข้อที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดจำนวนค่าทดแทนจากการเวนคืน จึงเป็นกรณีที่ต้องใช้เกณฑ์ราคาประเมินที่ดินในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับแก่กรณี การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินโดยเทียบเคียงบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในปี 2541 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share