คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จ่าสิบตำรวจ ว. เป็นข้าราชการตำรวจ ในสังกัดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลในการไต่สวนการตายตามหมายเรียกพยานบุคคลของศาล ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากเห็นสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เมื่ออุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเป็นพยานศาลเป็นการกระทำโดยประมาทธรรมดา จ่าสิบตำรวจ ว. จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,947,615 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ โดยไม่ต้องสืบพยานต่อไป จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,592,615 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 27 เมษายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสมศรี ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดในผลละเมิดของจ่าสิบตำรวจวรวิทย์ ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยอ้างในฎีกาว่า การที่จ่าสิบตำรวจวรวิทย์เดินทางไปเป็นพยานต่อศาลจังหวัดเทิงในการไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 หน้าที่ในการเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไปที่จะต้องปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของศาล หาใช่หน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากการเป็นเจ้าพนักงานผู้สืบสวนจับกุมอันเป็นเหตุให้นายรส ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่การปฏิบัติการตามตำแหน่งหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติหรือได้รับมอบหมายแต่อย่างใด ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1262/2547 การกระทำละเมิดของจ่าสิบตำรวจวรวิทย์มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจ่าสิบตำรวจวรวิทย์หรือทายาท แต่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐไม่ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ จ่าสิบตำรวจวรวิทย์เป็นข้าราชการตำรวจ ในสังกัดของจำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ปัญหาว่าการเดินทางไปเบิกความต่อศาลเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ได้ความการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ข้อ 4.2 ผลการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า ตามบันทึกข้อความที่ สตช. ทำไว้กับกระทรวงยุติธรรมลงวันที่ 17 มิถุนายน 2547 และหนังสือ สตช. ด่วนที่สุดที่ 0004.6/1879 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 กำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นพยานศาลโดยเคร่งครัดและถือเป็นราชการสำคัญ หากถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นก็ให้เดินทางกลับไปเบิกความที่ศาลเดิม โดยให้ถือเป็นการเดินทางไปปฏิบัติราชการ กรณีอุบัติเหตุจราจรทางบกในระหว่างเดินทางไปเป็นพยานศาลของจ่าสิบตำรวจวรวิทย์ตามหมายเรียกพยานบุคคลของศาลจังหวัดเทิง จึงถือว่าเป็นอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติราชการ แสดงว่าการเดินทางไปเบิกความต่อศาลเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว และเมื่อพิจารณาเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง เป็นการไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำต่าง ๆ เป็นการเฉพาะตัว ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เมื่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำโดยประมาทธรรมดา จ่าสิบตำรวจวรวิทย์จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2547 ที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โดยฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ที่ให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ต้องเบิกความต่อศาลตามความสัจจริงในระหว่างเป็นพยานในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกฟ้องนั้น เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่ หน้าที่ที่ต้องเบิกความตามความสัจจริงจึงไม่เป็นการกระทำในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ แม้จำเลยจะให้และรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานดังกล่าวเบิกความผิดไปจากความจริงจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 แสดงว่าคำเบิกความเป็นการกระทำเฉพาะตัว ไม่ใช่การปฏิบัติงานในหน้าที่ ผิดกับการเดินทางไปเบิกความ เป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share