คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เช่านาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนที่นาจากผู้ให้เช่าโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2528 มาตรา 53 และมาตรา 54 โจทก์จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 54 มาตรา 56 และมาตรา 57กล่าวคือโจทก์ต้องร้องขอต่อ คชก. ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้จำเลยขายที่นาแก่โจทก์เสียก่อนตามมาตรา 54 วรรคสอง เมื่อ คชก. ตำบลวินิจฉัยประการใด โจทก์ไม่พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก. จังหวัดภายใน30 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ คชก. ตำบลมีคำวินิจฉัย มิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นถึงที่สุดตามมาตรา 56 หาก คชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้ว โจทก์ยังไม่พอใจโจทก์จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 57 การที่โจทก์ขอซื้อที่นาจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทันทีโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบังคับไว้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2596 เนื้อที่19 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวา จากนายละเอียด ยืนยง นางสาวอุไรยืนยง นางสาวสำอางค์ ยืนยง นายสุริจ พิชญ์พงศานายสุจินต์ ยืนยง และนางทองคำ ทรัพย์วิจิตร เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงนี้ ทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่ปี 2528 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530 นายสุจินต์ ยืนยง ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้นางสาวบงกช ธิติโอภาส ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้เช่านาของนายสุจินต์ ยืนยง ให้ความยินยอมในการขายดังกล่าวด้วย เมื่อนางสาวบงกช ธิติโอภาส ซื้อที่ดินส่วนนี้แล้วก็ให้โจทก์เช่าทำนาต่อมา โจทก์จึงเป็นผู้เช่านาในที่ดินโฉนดเลขที่ 2596ทั้งแปลงจนถึงปัจจุบัน ครั้นประมาณกลางเดือนมกราคม 2531 โจทก์ทราบว่านางทองคำ ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน33 ตารางวา ที่โจทก์เช่าให้จำเลยในราคา 86,985 บาท เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2530 โดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อน เพราะก่อนขายนางทองคำมิได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือว่าจะขายที่ดินส่วนนี้และสอบถามความสมัครใจจากโจทก์ว่าจะซื้อที่ดินนี้ตามราคาข้างต้นหรือไม่ ซึ่งถ้านางทองคำแจ้งความจำนงมายังโจทก์โจทก์ก็จะซื้อไว้เพราะโจทก์ประสงค์จะมีที่นาเป็นของตนเองดังนั้นการกระทำของนางทองคำผู้ให้เช่าทำนาจึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 โจทก์ในฐานะผู้เช่านาในที่ดินนี้จึงมีสิทธิขอซื้อที่ดินนี้คืนจากจำเลยตามราคาและวิธีการชำระเงินที่นางทองคำขายแก่จำเลยคืนจำนวน86,985 บาท หลังจากที่โจทก์ทราบว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนางทองคำแล้ว โจทก์ได้ติดต่อซื้อที่ดินคืนจากจำเลยในราคา86,985 บาท โดยขอให้จำเลยโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2531 แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยติดต่อกับทนายโจทก์ภายใน 5 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวของทนายโจทก์แล้ว แต่เมื่อครบกำหนดกลับเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนในโฉนดเลขที่ 2596 ที่จำเลยซื้อมาจากนางทองคำ ทรัพย์วิจิตร ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่โจทก์ในราคา 86,985 บาท โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการโอนทั้งสิ้น หากจำเลยไม่ยอมรับเงินราคาที่ดินจำนวน 86,985 บาท และไม่ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ก็ให้โจทก์วางเงินจำนวนดังกล่าวไว้ต่อศาลและให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการจดทะเบียนการโอนขายที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช้สิทธิตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524บัญญัติไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 54 วรรคสอง มาตรา 56 และมาตรา 57 หรือไม่โดยโจทก์อ้างเหตุว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 54 วรรคสอง ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าโจทก์จะต้องดำเนินการร้องขอต่อ คชก.ตำบลให้วินิจฉัยก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาลโดยกฎหมายใช้คำว่า “อาจร้องขอ” ซึ่งมีความหมายว่าจะร้องหรือไม่ร้องก็ได้ และในพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 13(2) มิได้บัญญัติให้ คชก.ตำบลมีอำนาจวินิจฉัยถึงข้อพิพาทระหว่างผู้เช่านาหรือผู้ให้เช่านาที่มีต่อบุคคลภายนอก เห็นว่า เมื่อโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เช่านาฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่นาจากผู้ให้เช่านาโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 53 และมาตรา 54 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่คุ้มครองสิทธิของโจทก์ในการซื้อนาจากจำเลยโจทก์จำต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายดังกล่าวที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 54 มาตรา 56 และมาตรา 57 ที่มาตรา 54 วรรคสองใช้คำว่า “อาจร้องขอต่อ คชก.ตำบล” เป็นการระบุว่ากรณีที่ผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาในขณะนั้นแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากันดังบัญญัติไว้ในมาตรา 54 วรรคหนึ่งนั้น ผู้เช่านาสามารถร้องขอต่อ คชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้ผู้รับโอนขายนาได้ ถ้าผู้รับโอนตามวรรคหนึ่งไม่ยอมขายนาให้แก่ผู้เช่านาซึ่งมิใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เช่านาเลือกเอาว่าจะร้องต่อ คชก.ตำบลหรือไม่ก็ได้ดังความเข้าใจของโจทก์ ทั้งอำนาจหน้าที่ของ คชก.ตำบลที่จะรับคำร้องขอดังกล่าวก็มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2525 มาตรา 13(3) รับรองไว้แล้วให้มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ คชก.จังหวัดมอบหมาย ดังนั้นการที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเพื่อให้จำเลยโอนที่นาโดยอ้างว่าผู้ให้เช่านาขายนาแก่จำเลยโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบนั้น โจทก์จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย กล่าวคือโจทก์ต้องร้องขอต่อ คชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้จำเลยขายที่นาแก่โจทก์เสียก่อนตามมาตรา 54 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 เมื่อ คชก.ตำบลวินิจฉัยประการใดโจทก์ไม่พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยแต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ คชก.ตำบลมีคำวินิจฉัยมิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นถึงที่สุดตามมาตรา 56แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หากคชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้ว โจทก์ยังไม่พอใจ โจทก์จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 การที่โจทก์ขอซื้อที่นาจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ทันทีโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบังคับไว้เช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share