แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนเจ้าของที่ดินมีโฉนดยื่นฟ้องกรมที่ดิน เป็นจำเลยที่ ๑ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และเอกชนด้วยกันเป็นจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ อ้างว่า ที่ดินมีโฉนดของโจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันออกหลักฐานใบจอง (น.ส. ๒) ให้แก่บิดาของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ทับที่ดินบางส่วน โดยมิชอบและปราศจากความระมัดระวัง และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ เป็นผู้มีชื่อใน น.ส. ๒ ต่อจากบิดาได้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันเพิกถอน น.ส. ๒ พิพาท ให้ขับไล่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ และบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์และห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ออก น.ส. ๒ โดยชอบด้วยกฎหมาย และใส่ชื่อจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ใน น.ส. ๒ ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ให้การว่า บิดาของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้มีชื่อ และทางราชการได้ออก น.ส. ๒ ให้ เมื่อบิดาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นทายาทจึงรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว และครอบครองโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก น.ส. ๒ ทับที่ดินตามโฉนดของโจทก์ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๘/๒๕๕๗
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ นางนภาศิริ สินธวานุชิต โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ นายอำเภอหนองหญ้าปล้อง ที่ ๓ นายณรงค์ฤทธิ์ อุปมา ที่ ๔ นางอรฎี อุปมา ที่ ๕ นางรัตนา อุปมา ที่ ๖ นางบุญตา วรภักดิ์ภมร ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๖๑/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙ ตำบลยางน้ำกลัดใต้ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๔๖ ไร่ ๓ งาน ๙ ตารางวา โดยซื้อมาจากบริษัทเซ็นจูรี่เด็คคอร์ จำกัด ที่ดินดังกล่าวได้ออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เมื่อโจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินพบว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันออกหลักฐานใบจอง (น.ส. ๒) ให้แก่นายสงวน อุปมา ทับที่ดินของโจทก์บางส่วน เป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๖ ไร่ โดยมิชอบและปราศจากความระมัดระวัง และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นทายาทของนายสงวนและเป็นผู้มีชื่อใน น.ส. ๒ ต่อจากนายสงวนได้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันเพิกถอน น.ส. ๒ พิพาท ให้ขับไล่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ และบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์และห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๓ ออก น.ส. ๒ ให้แก่นายสงวน ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายสงวนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๓ จึงใส่ชื่อจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นทายาทของนายสงวน ลงใน น.ส. ๒ ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ให้การและฟ้องแย้งว่า นายสงวน บิดาจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้มีชื่อ และในปี ๒๕๓๑ ทางราชการได้ออก น.ส. ๒ เนื้อที่ ๒๖ ไร่ ให้แก่นายสงวน และในปี ๒๕๔๑ นายสงวนได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาท เมื่อนายสงวนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นทายาทรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว และครอบครองติดต่อจากนายสงวนมากว่า ๒๗ ปี โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากโจทก์ อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจออกใบจอง (น.ส. ๒) ให้แก่นายสงวน บิดาของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ โดยโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นสำคัญ ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะออก น.ส. ๒ ก็ต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดรวมทั้งปฏิบัติตามกฎหรือระเบียบในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ได้กล่าวอ้างในคำให้การมีใจความสำคัญว่า จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมาจากบิดา ซึ่งเจ้าพนักงานดำเนินการสอบสวน ก่อนที่จะออกใบจองให้แก่นายสงวน และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นทายาทของนายสงวน จึงมีผลเท่ากับเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของโจทก์ การพิจารณาว่าโจทก์หรือจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริง สามารถนำสืบข้อเท็จจริงเพื่อแสดงสิทธิในที่ดินต่างจากที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนได้ ดังนั้น การที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๒ หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ อันเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี จึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจออกใบจองที่พิพาทให้แก่นายสงวน บิดาของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ทับที่ดินของโจทก์ที่มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้เพิกถอนใบจองที่พิพาท และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ หรือว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดี ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน โดยอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด ซึ่งซื้อมาจากผู้มีชื่อ ที่ดินดังกล่าวได้ออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เมื่อโจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินพบว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันออกหลักฐานใบจอง (น.ส. ๒) ให้แก่บิดาของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ทับที่ดินของโจทก์บางส่วน เป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๖ ไร่ โดยมิชอบและปราศจากความระมัดระวัง และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ เป็นผู้มีชื่อใน น.ส. ๒ ต่อจากบิดาได้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันเพิกถอน น.ส. ๒ พิพาท ให้ขับไล่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ และบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์และห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ออก น.ส. ๒ โดยชอบด้วยกฎหมาย และใส่ชื่อจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ใน น.ส. ๒ ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ให้การว่า บิดาของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้มีชื่อ และในปี ๒๕๓๑ ทางราชการได้ออก น.ส. ๒ เนื้อที่ ๒๖ ไร่ ให้ เมื่อบิดาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นทายาทจึงรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว และครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการรอบครองปรปักษ์ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก น.ส. ๒ ทับที่ดินตามโฉนดของโจทก์ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางนภาศิริ สินธวานุชิต โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ นายอำเภอหนองหญ้าปล้อง ที่ ๓ นายณรงค์ฤทธิ์ อุปมา ที่ ๔ นางอรฎี อุปมา ที่ ๕ นางรัตนา อุปมา ที่ ๖ นางบุญตา วรภักดิ์ภมร ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ