คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินแปลงเดียวกับของ ก. และ ว . และเป็นของบิดาโจทก์ ต่อมาบิดาโจทก์ตาย ที่ดินแปลงนั้นได้แบ่งแยกตกได้แก่โจทก์ , ก. และ ว. ที่ดินของโจทก์อยู่ด้านในโจทก์จึงมีสิทธิผ่านที่ดินของ ก.และ ว. ออกสู่ทางสาธารณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 โจทก์หามีสิทธิผ่านออกในที่ดินแปลงอื่นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางเดินให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยมีทางเดินในที่ของจำเลย ที่ดินของโจทก์มิได้ตกในที่ล้อมทิศตะวันตกติดทางสาธารณะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางเดินให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินของโจทก์เดิมเป็นที่ฝืนเดียวกับที่นายแกล้ม นายวุฒิ และนายกลิ่น และเป็นของนายกลับบิดาโจทก์ นายกลับตายมา ๑๕ ปี แล้ว โจทก์ไม่ได้ใช้ทางพิพาทมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิในที่พิพาทในฐานเป็นที่มีภารจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๙๙ เมื่อ ๒ ปีมานี้ โจทก์เข้าปลูกเรือนในที่ของโจทก์ซึ่งถูกแบ่งแยกมา ดังนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๕๐ โจทก์มีสิทธิใช้ทางเดินออกได้ในที่ดินของนายแกล้ม ซึ่งอยู่ติดกับทางสาธารณ โดยผ่านที่ของนายวุฒิเล็กน้อย โจทก์หามีสิทธิผ่านที่จำเลยไม่
พิพากษายืน

Share