คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4932/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับรับฟ้องแล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาด ต้องให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีโดยมิให้ศาลชั้นต้นได้สืบพยานแล้วพิจารณาและพิพากษาเสียก่อนตามลำดับชั้นศาล ย่อมไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91, 187, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยอื่นไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ความผิดในข้อหาโกงเจ้าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนางปราณีเบิกความดังกล่าว จำเลยที่ 1 หรือทนายความไม่ได้ถามค้านหรือนำพยานมาสืบโต้แย้งว่าคำเบิกความของนางปราณีไม่เป็นความจริง จึงต้องรับฟังว่าโจทก์เพิ่งทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำในวันที่ 25 มิถุนายน 2551 และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 รวมทั้งการจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยที่ 5 มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง และต่อมาขายที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังฟังไม่แน่ชัดว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเมื่อใด เป็นการรับฟังพยานที่ไม่ชอบเนื่องจากขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบ และเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ยังไม่เกินสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นจึงต้องพิจารณาสืบพยานและพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ฐานขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ด้วยการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้นเอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด หรือที่ตนรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วว่าให้โอนคืนแก่โจทก์ไปจดทะเบียนจำนองก็ดี หรือจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลอื่น ย่อมอาจเป็นการทำให้ไร้ประโยชน์ หรือเอาไปเสีย หรือทำให้เสียหายซึ่งที่ดินที่จำเลยที่ 1 รู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัดได้ มิใช่เพียงแค่ดูทางกายภาพว่าที่ดินยังคงสภาพเป็นที่ดินอยู่ตามเดิมโดยมิได้พิจารณาจากผลของความเสียหายทางมูลค่าที่มีต่อทรัพย์สินหรือพิจารณาความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการติดตามเอากรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นกลับคืนมาและแม้หากจะพบว่ามีการกระทำแล้ว ศาลยังต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ จึงจะครบองค์ประกอบของการกระทำความผิดทางอาญาตามบทบัญญัติมาตรานี้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ด่วนหยิบยกความผิดในข้อหานี้ขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีโดยมิให้ศาลชั้นต้นได้สืบพยานแล้วพิจารณาและพิพากษาเสียก่อนตามลำดับชั้นศาล ย่อมไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องแล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาด ต้องให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไปตามรูปคดี

Share