คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำร้องของจำเลยไม่เพียงแต่อ้างว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ราคาต่ำอย่างเดียว แต่ยังได้บรรยายถึงการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้องด้วย เนื่องจากได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานฝ่ายประเมินราคาทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีและราคาประเมินในช่วงเวลาที่มีการขายทรัพย์นั้นมาก ถือได้ว่าคำร้องของจำเลยได้คัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้รับความเสียหายแล้ว
การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงการใช้ดุลพินิจในการดำเนินการขายทอดตลาดว่าเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ มิใช่ว่าถ้าไม่มีกฎหมายห้ามแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะตกลงขายเสมอไป หากได้กระทำไปเป็นที่เสียหายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอย่างเห็นได้ชัดก็อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบได้
การขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ.ได้บัญญัติไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ 1หมวด 4 ส่วนที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุดแก่เจ้าของทรัพย์ที่ขายทอดตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานของศาลจะต้องมีหน้าที่ระวังผลประโยชน์แก่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีให้มากที่สุด จึงจะถือได้ว่าปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ได้ความว่าที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 132 ตารางวา มีราคาประเมินที่กรมที่ดินกำหนดไว้เป็นเงิน 6,600,000 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้รับทราบราคาประเมินของกรมที่ดินดังกล่าวก่อนที่จะขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ดังนี้การใช้ดุลพินิจในการตกลงขายทรัพย์พิพาทซี่งมีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในราคา1,900,000 บาทนั้น ต่ำกว่าราคาประเมินเป็นอันมาก นอกจากนี้ในการดำเนินการขายทอดตลาดครั้งแรกซึ่งมีผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 2,800,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ขายอ้างว่าราคาต่ำไป เห็นได้ชัดว่าจำเลยย่อมได้รับความเสียหายเป็นการดำเนินการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.

Share