คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5917/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองได้ความเพียงว่ามีการลงข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ตามฟ้องเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นนิติบุคคลรู้เห็นหรือร่วมดำเนินการในการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าว ทั้งกิจการหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 2 แบ่งโครงสร้างด้านฝ่ายข่าวและด้านบริหารแยกต่างหากจากกัน โดยบรรณาธิการจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านฝ่ายข่าว ส่วนฝ่ายบริหารจะดูแลทางด้านธุรกิจและการตลาด ไม่แทรกแซงก้าวก่ายซึ่งกันและกัน จำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการลงพิมพ์ตามฟ้อง ดังนี้ การที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิดในทางอาญาจะต้องได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความหรือมีส่วนร่วมในการใส่ความโจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ จะให้ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 33, 32 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ริบของกลาง ยึดทำลายหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ทั้งหมด และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และหนังสือพิมพ์อื่นหลายฉบับเป็นจำนวนหลายครั้งติดต่อกันโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยให้เรียกพลตำรวจเอกสันต์ ว่า โจทก์ร่วมที่ 1และเรียกคุณหญิงเกิดศิริ ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 83 ประกอบพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน ปรับ 30,000 บาทและลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน รวมทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 พยายามบรรเทาผลเสียหายจากการกระทำผิดโดยลงโฆษณาข้อความขออภัยโจทก์ร่วมทั้งสองทางหนังสือพิมพ์ไปแล้วบางส่วน นับว่าสำนึกในการกระทำผิด มีเหตุอันควรปรานี จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลางและให้ยึดทำลายหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ที่มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาแต่โดยย่อให้ได้ใจความครบถ้วนตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนลงพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์รายวัน และหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับละ 3 ครั้ง ติดต่อกันโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า จำเลยที่ 2กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองได้ความเพียงว่ามีการลงข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ตามฟ้องเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นนิติบุคคลรู้เห็นหรือร่วมดำเนินการในการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 2 มีนางกรรณิกา กรรมการจำเลยที่ 2 เบิกความว่า กิจการหนังสือพิมพ์แบ่งโครงสร้างด้านฝ่ายข่าวและด้านบริหารแยกต่างหากจากกัน โดยบรรณาธิการจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านฝ่ายข่าว ส่วนฝ่ายบริหารจะดูแลทางด้านธุรกิจและการตลาด ไม่แทรกแซงก้าวก่ายซึ่งกันและกัน จำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการลงพิมพ์ตามฟ้อง ดังนี้ การที่จะให้จำเลยที่ 2 รับผิดในทางอาญาจะต้องได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใส่ความหรือมีส่วนร่วมในการใส่ความโจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ จะให้ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยหาได้ไม่ ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองที่ว่า การลงพิมพ์ข้อความพาดหัวข่าวที่หน้าหนึ่งใส่ความโจทก์ร่วมทั้งสองตามฟ้องเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share