แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานีได้โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เมื่อจำเลยออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เนื่องจากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มีผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 145 (3) และ (4) มาตรา 147 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมาตรา 10 (6) และ (7) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีมติโดยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ มีคำวินิจฉัยสั่งการและมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ มีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยในเขตเลือกตั้งดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2548 ตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และตามนัยมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จำเลยย่อมตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 97 ตอนท้ายที่บัญญัติว่า กรณีที่การออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะถูกยกเลิกหรือเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ก็ตาม แต่มูลหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเกิดขึ้นในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับ โดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายยกเว้นไว้ และไม่ปรากฏมีบทบัญญัติกฎหมายให้ยกเลิกมูลหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง สิทธิของโจทก์ในการเรียกเงินคืนและหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามมาตรา 97 ตอนท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง จึงยังคงมีอยู่โดยหาได้ถูกยกเลิกไปด้วยไม่ เมื่อจำเลยไม่คืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมาย และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 ตามฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,213,969.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,166,280 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีเพียงปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ส่วนคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยให้วินิจฉัยไปพร้อมกับคำพิพากษา แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,213,969.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,166,280 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ตุลาคม 2549) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกามาเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ว่า (1) ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง…จากประกาศดังกล่าวมีผลให้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่โจทก์เสนอคำฟ้องจำเลยต่อศาลสิ้นผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 ตุลาคม 2549 จึงไม่มีกฎหมายรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของโจทก์อันจะต้องบังคับให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะอีกต่อไป นั้น เห็นว่า จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานีได้โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เมื่อจำเลยออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เนื่องจากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มีผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 145 (3) และ (4) มาตรา 147 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมาตรา 10 (6) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีมติโดยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ มีคำวินิจฉัยสั่งการและมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ มีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยในเขตเลือกตั้งดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2548 ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และตามนัยมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จำเลยย่อมตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 97 ตอนท้ายที่บัญญัติว่ากรณีที่การออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะถูกยกเลิกหรือเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ก็ตาม แต่มูลหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเกิดขึ้นในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับ โดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายยกเว้นไว้ และไม่ปรากฏมีบทบัญญัติกฎหมายให้ยกเลิกมูลหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง สิทธิของโจทก์ในการเรียกเงินคืนและหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามมาตรา 97 ตอนท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง จึงยังคงมีอยู่โดยหาได้ถูกยกเลิกไปด้วยไม่ เมื่อจำเลยไม่คืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมาย และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 ตามฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ