คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11571/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ อ. เจ้าหนี้เดิม ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ฯ สิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อกันต่อไปก็ต้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 แม้ตามบันทึกข้อตกลงตอนแรกให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญา เจ้าหนี้เดิมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ไม่ว่าหนี้เดิมจะถึงกำหนดแล้วหรือไม่ก็ตาม อันแสดงว่าเจ้าหนี้เดิมอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ผิดนัดดังกล่าวเป็นต้นไปซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ก็ตาม แต่ตามข้อ 3 ใบบันทึกข้อตกลงระบุว่า เจ้าหนี้เดิมยังมีสิทธิที่จำหน่ายจ่ายโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันตามควรแก่กรณีเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้เดิมและเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ตามบันทึกนี้ อันเป็นกรณีที่จำเลยตกลงให้เจ้าหนี้เดิมขายหลักทรัพย์ที่เป็นประกันได้ไว้ล่วงหน้า จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบหรือรอให้จำเลยตกลงให้จำเลยตกลงในขณะขายอีกครั้งหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา เมื่อต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เจ้าหนี้เดิมบังคับขายหลักทรัพย์ (หุ้น) นำเงินไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่บางส่วน ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมตามข้อตกลงข้อ 3 ดังกล่าว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้เดิมด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วน อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,849,026.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 784,898.17 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,518,780.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของต้นเงิน 744,715.17 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 มิถุนายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทำสัญญานายหน้าและ/หรือตัวแทนและให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 2,000,000 บาท ตกลงชำระราคาค่าหลักทรัพย์รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายแต่ละรายการเมื่อเรียกให้ชำระ และให้บริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชียจำกัด (มหาชน) ยึดถือครอบครองหลักทรัพย์ที่จำเลยสั่งซื้อรวมตลอดทั้งทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหนี้ทั้งหลาย ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันมีมูลค่าลดลงจนทำให้อัตราส่วนที่จะต้องดำรงเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 25 มีสิทธิที่จะบังคับขายหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันได้ในวันทำการถัดไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ในกรณีเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ไม่พอชำระหนี้จำเลยจะชำระค่าหลักทรัพย์ที่ขาดอยู่ภายในวันทำการที่สามถัดจากวันที่ขายหลักทรัพย์นั้นพร้อมดอกเบี้ย หลังจากนั้นจำเลยสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) ซื้อขายหลักทรัพย์หลายรายการ ไม่สามารถหักชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์รายการนั้นได้ครบ จำเลยค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 จำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) ทำบันทึกข้อตกลงกันสรุปได้ว่า ตามที่ผู้ให้สัญญา (จำเลย) ซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าสัญญา MARGIN ให้ไว้ต่อบริษัท (บริษัทดังกล่าว) นั้น ผู้ให้สัญญายอมรับว่า ณ วันทำบันทึกข้อตกลงนี้ ผู้ให้สัญญามีหนี้เงินกู้ค้างชำระบริษัทอยู่ และประสงค์จะชำระหนี้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 วงเงิน ดอกเบี้ย และเงื่อนไขการผ่อนชำระ 1.1 วงเงินผ่อนชำระ ยอมรับว่าค้างชำระ 1,008,518.57 บาท ประสงค์แบ่งชำระเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ข้อ 1.1.1 ส่วนที่ 1 จำนวน 133,549.89 บาท ตกลงผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือนในวันที่ 7 ของทุกเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท รวม 12 งวด เริ่มงวดแรกภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน2539 ข้อ 1.1.2 ส่วนที่ 2 จำนวน 874,968.68 บาท ผู้ให้สัญญาตกลงให้ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของการซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ฯลฯ ข้อ 3 ผลของการผิดสัญญา หากผู้ให้สัญญาผิดสัญญา MARGIN และหรือบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือว่าผู้ให้สัญญาผิดสัญญา อันเป็นผลให้บริษัทมีสิทธิเรียกให้ผู้ให้สัญญาชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตาม และยอมให้บริษัทคิดดอกเบี้ยในหนี้ที่ค้างชำระทุกจำนวนในอัตราสูงสุด นับแต่วันที่ผู้ให้สัญญาได้ชื่อว่าผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไป จนกว่าผู้ให้สัญญาจะได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทจนครบถ้วน นอกจากนี้บริษัทยังมีสิทธิที่จะจำหน่าย จ่ายโอน หลักทรัพย์ที่เป็นประกันตามควรแก่กรณี เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของบริษัทและเพื่อชำระหนี้ที่ผู้ให้สัญญามีอยู่ตามบันทึกฉบับนี้ ฯลฯ ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และหรือสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัด จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามข้อ 1.1.1 ได้ 5 งวด ผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 6 ซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 บริษัทดังกล่าวบังคับขายหลักทรัพย์ (หุ้น) โดยที่จำเลยไม่ทราบเรื่อง ได้เงินมา 329,558 บาท นำไปหักชำระหนี้ได้บางส่วน ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2550 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยมา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 สำหรับปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และโจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยโดยชอบหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องไม่เคลือบคุลม และมีการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยโดยชอบแล้ว โดยยกเหตุผลประกอบการวินิจฉัยชัดแจ้งและชอบแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาปัญหาดังกล่าวของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์มีอายุความ 5 ปี ดังที่จำเลยให้การไว้ และการที่โจทก์ขายหุ้นไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 เป็นการขายโดยที่จำเลยไม่ทราบไม่ได้ตกลงด้วยไม่เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ แม้มีอายุความ 10 ปี ก็ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชีย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ทำบันทึกข้อตกลงกัน สิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อกันต่อไปก็ต้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงนี้ด้วยและสิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แม้จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 และแม้ตามข้อ 3 แห่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวตอนแรกให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญา เจ้าหนี้เดิมผู้เป็นคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ไม่ว่าหนี้เดิมจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งคำว่าหนี้ทั้งหมดนั้นก็คือหนี้ทั้งตาม ข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 อันแสดงว่าเจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องทั้งตามข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 ได้ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่เริ่มนับอายุความตามมาตรา 193/12 ก็ตาม แต่ตามข้อ 3 แห่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวตอนต่อไประบุว่า เจ้าหนี้เดิมยังมีสิทธิที่จะจำหน่าย จ่ายโอน หลักทรัพย์ที่เป็นประกันตามควรแก่กรณี เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้เดิมและเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ตามบันทึกฉบับนี้ อันเป็นกรณีที่จำเลยตกลงให้เจ้าหนี้เดิมขายหลักทรัพย์ที่เป็นประกันได้ไว้เป็นการล่วงหน้า จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบหรือรอให้จำเลยตกลงในขณะขายอีกครั้งหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา เมื่อต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เจ้าหนี้เดิมบังคับขายหลักทรัพย์ (หุ้น) ได้เงินมา 329,558.60 บาท นำเงินที่ได้มาไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ได้บางส่วน ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมตามข้อตกลงตามข้อ 3 ดังกล่าว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เดิมด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วน อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 744,715.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share